มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2394 ครั้ง
“เฉลิมชัย” เร่งพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หวังปั้น “นครศรีธรรมราช” เป็นฮับอุตสาหกรรมยางแห่งอาเซียนคู่ “รับเบอร์ ซิตี้” สงขลา “กยท.” ยืนยันผลศึกษา “รับเบอร์วัลเลย์โปรเจค” ถึงมือบอร์ดการยางฯ สิงหาคมนี้
“อลงกรณ์” เดินสายตรวจตลาดกลางยางพารา แนะเพิ่มเทคโนโลยีบล็อคเชนในระบบประมูล ดึง AIC วิจัยพัฒนานวัตกรรมแปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์ยางใหม่ๆ พร้อมอัพเกรดประสิทธิภาพการผลิตยางครบวงจรมุ่งลดต้นทุนเพิ่มมูลค่า ชื่นชมผลดำเนินงานสหกรณ์นิคมทุ่งสงพร้อมหนุนโครงการผลิตยางเครป ชาวสวนยางพอใจโครงการประกันรายได้ระยะ 2 โอนเงินถึงมือแล้วกว่า 99%
วันนี้ (27ก.พ.64) นายอลงกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมตลาดกลางยางพาราจังหวัดนครศรีธรรมราชของการยางแห่งประเทศไทยและสหกรณ์นิคมทุ่งสง ว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนายางไทย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายเร่งรัดการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor) โดยเฉพาะการพัฒนา “นครศรีธรรมราช” และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนกลาง ประกอบด้วย จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา และพัทลุง เป็นฮับอุตสาหกรรมยางแห่งอาเซียน คู่กับการพัฒนา “รับเบอร์ ซิตี้ เมืองยางสงขลา” โดย “กยท.” ยืนยันล่าสุดว่าผลการศึกษาโครงการรับเบอร์วัลเลย์นครศรีธรรมราชจะถึงมือบอร์ดการยางฯ ภายในสิงหาคมนี้
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า โครงการรับเบอร์วัลเลย์ (Rubber Valley) เป็นรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมยางพาราแบบครบวงจรโดยใช้พื้นที่ของ กยท. 41,000 ไร่ ใน ต.กรุงหยัน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมยางไทยควบคู่กับการพัฒนารับเบอร์ซีตี้ หรือ เมืองยาง ที่สงขลาโดยวิสัยทัศน์ใหม่มุ่งส่งเสริมการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน แทนการส่งออกในรูปวัตถุดิบจะทำให้ชาวสวนยางและสถาบันยาง รวมทั้งผู้ประกอบการและประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน โดยครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์ไม้ยางทั้งหมด โดยเฉพาะถุงมือยาง ซึ่งกำลังมีความต้องการเพิ่มขึ้นเพราะผลกระทบโควิด-19 รวมถึง Tires, middle weight tires, rubber products, latices, rubber tubes and rubber tapes, rubber shoes, carbon black, reclaimed rubber, rubber machinery, rubber materials ฯลฯ ทั้งนี้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์ AIC (Agritech and Innovation Center) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านยางพารา (Center of Excellence) จะสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแปรรูปสร้างผลิตภัณฑ์ยางใหม่ๆ รวมทั้งอัพเกรดประสิทธิภาพการผลิตยางตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อลดต้นทุนเพิ่มมูลค่าเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน
“เราต้องปรับเกมเล่นใหม่ให้สมฐานะการเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของโลก ต้องกล้าคิดกล้าทำ พร้อมเป็นผู้นำของโลก โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นธงนำ ทั้งนี้เราจะร่วมมือกับประเทศจีนในฐานะประเทศผู้ซื้อยางพารารายใหญ่ของไทยและของโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะโครงการ “หุบเขาแห่งอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber Valley)” หรือ “ฐานการผลิตอุตสาหกรรมยางพาราของโลก (Platform of Rubber Valley)” ก่อตั้งเมื่อปี 2555 ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ในตำบลซือไป (Shibei) เมืองชิงเต่า (Qingdao) มณฑลซานตงเป็นโมเดลนิคมอุตสาหกรรมยางใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายทินกร อ่อนประทุม นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอุดมเกียรติ เกิดสม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช และประชุม ร่วมกับ กยท. ผู้นำชาวสวนยางและตัวแทนสถาบันเกษตรกร โดยแนะนำให้เพิ่มเทคโนโลยีบล็อกเชน (Block Chain Technology) เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในระบบประมูลยางของ กยท. รวมทั้งชมเชยสหกรณ์นิคมทุ่งสง ที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารงานจนสามารถแบ่งปันผลกำไรให้สมาชิก รวมทั้งเห็นด้วยกับโครงการผลิตยางเครปของ กยท.และสหกรณ์ชาวสวนยาง สำหรับความคืบหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะ 2 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถโอนเงินถึงมือชาวสวนยาง โดยตรงแล้วกว่า 99% โดยตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางได้แสดงความพอใจในการทำงานที่รวดเร็ว ซึ่งนายอลงกรณ์ ได้กล่าวชมเชยเจ้าหน้าที่ กยท.และ ธกส. ที่ทำให้นโยบายประกันรายได้ ทำได้จริงทำได้ไวเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรชาวสวนยาง
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2394 ครั้ง