กองทัพเรือ จัดงานวันสถาปนาไทยอาสาป้องกันชาติ ประจำปี 2564

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2804 ครั้ง

วันนี้ (4 มี.ค.64) เวลา 10.00 น. กองทัพเรือ โดย ศูนย์ไทยอาสาป้องกันชาติในทะเลเขตทัพเรือภาค 1 – 3 ได้จัดงานวันสถาปนาไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) 4 มี.ค. ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยจัดกิจกรรมในแต่ละเขตพร้อมเพรียงกัน

กองทัพเรือ จัดให้มีกิจกรรมของเหล่าไทยอาสาป้องกันชาติในทะเลเนื่องในวันสถาปนาไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) ขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกและสดุดีวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของบรรพชน รวมทั้งเพื่อเป็นการรักษาฐานมวลชนที่เป็นสมาชิก ทสปช. ในทะเล และรวมพลังแสดงออกถึงความสามัคคีของสมาชิก ทสปช. ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มชาวประมงตามท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายทะเลทั้ง 22 จังหวัด ให้มีทัศนคติที่ดีและให้ความร่วมมือกับทางราชการและกองทัพเรือ ในการป้องกันการกระทำความผิดในทะเล การป้องกันและปราบปรามโจรสลัด มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างและเผยแพร่วิชาการที่เกื้อกูลแก่การประกอบอาชีพการประมงในทะเล รวมทั้งให้สามารถทำการติดต่อสื่อสาร และรายงานข่าวอันเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของชาติให้แก่ทางราชการ และกองทัพเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งการจัดงานวันสถาปนา 4 มีนาคม 2564 ในครั้งนี้ เป็นการจัดงานแบบแยกเขต แยกการปฏิบัติ เพื่อระมัดระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 โดยจัดกิจกรรมในแต่ละเขตโดยพร้อมเพรียงกัน มีกิจกรรมหลักประกอบด้วย การรับฟังสารจากผู้บัญชาการทหารเรือ ถึงสมาชิก ทสปช.ในทะเล และแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้แก่สมาชิก ทสปช.ในทะเล ทั้งนี้การจัดกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ ประกอบด้วย ศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขต ทัพเรือภาคที่ 1 จัดงานที่บริเวณหาดทรายรี จังหวัดชุมพร ศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขต ทัพเรือภาคที่ 2 จัดงานที่บริเวณกองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 จังหวัดสงขลา และ ศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขต ทัพเรือภาคที่ 3 จัดงานที่บริเวณเทศบาลเมืองกันตัง จังหวัดตรัง และบริเวณกองบัญชาการฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3

ข้อมูลรายละเอียดที่สำคัญของเหล่าสมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติ

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2369 บรรพชนของเราได้สร้างวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ โดยได้สละชีวิต เลือดเนื้อ และหยาดเหงื่อ เข้าปกป้องเอกราชอธิปไตยของแผ่นดิน กล่าวคือ ท้าวสุรนารี วีรสตรีของไทย ได้รวมพลังประชาชนหญิงชายชาวนครราชสีมาจับอาวุธเข้าต่อสู้ขับไล่อริราชศัตรูอย่างเข้มแข็ง แม้ฝ่ายเราจะมีไพร่พลซึ่งล้วนแต่เป็นประชาชนพลเมือง และมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่น้อยกว่า แต่ด้วยจิตใจที่แกร่งกล้าและอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่จะรักษาเอกราชไว้ ทำให้สามารถขับไล่ข้าศึกจนแตกพ่ายไป เหตุการณ์นั้นนับเป็นวีรกรรมที่เสียสละอย่างแท้จริงของประชาชน ที่รวมพลังกันลุกขึ้นต่อสู้กับศัตรูจนได้รับชัยชนะ ทางราชการจึงได้ประกาศ ให้วันที่ 4 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันไทยอาสาป้องกันชาติ” หรือ วัน ทสปช.

ประวัติความเป็นมาของไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.)

ไทยอาสาป้องกันชาติเกิดขึ้นเมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แผ่ขยายอำนาจเข้ามาในประเทศไทย ราษฎรชาวไทยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากการช่วยเหลือของทางราชการ จึงได้ผนึกกำลังเป็นกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ ขึ้นต่อต้าน โดยรวมตัวกันในรูปแบบและเรียกชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ไทยอาสาป้องกันตนเอง (ทสป.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ราษฎรอาสาสมัครพัฒนาท้องถิ่นและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม (รส.พป.) ราษฎรอาสาและป้องกันชายแดน ราษฎรอาสาสมัครป้องกันผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เป็นต้น และเพื่อให้กลุ่มราษฎรต่าง ๆ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และให้เกิดการจัดตั้งการฝึกอบรม การควบคุมดูแลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รัฐบาลจึงได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยไทยอาสาป้องกันชาติ พ.ศ.2521 เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตั้งแต่ 4 กันยายน 2521 โดยให้กลุ่มราษฎรอาสาสมัครต่าง ๆ รวมเข้าเป็นรูปแบบเดียวกันเรียกว่า “ไทยอาสาป้องกันชาติ” โดยเรียก ชื่อย่อว่า “ทสปช.”

ความเป็นมาของไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2524 ให้ กองทัพเรือ เปิดการอบบรมชาวประมง เพื่อความมั่นคงของชาติขึ้น และให้พิจารณาจัดตั้งกลุ่มชาวประมงที่ผ่านการอบรมในลักษณะเดียวกับ ทสปช. กองทัพเรือ จึงได้ร่วมกับกรมประมงและสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดการอบรมชาวประมงตามพื้นที่ชายฝั่งทะเล รวม 22 จังหวัดทั้งในอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันขึ้น ใช้ชื่อหลักสูตรการอบรมว่า “การประมงกับความมั่นคงของชาติในทะเล” โดย กรมยุทธการทหารเรือ เป็นเจ้าของโครงการ ตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา และเพื่อให้กลุ่มชาวประมงที่ผ่านการอบรมหลักสูตรดังกล่าว ผนึกกำลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

กองทัพเรือ จึงได้ขออนุมัติต่อผู้อำนวยการศูนย์ไทยอาสาป้องกันชาติกลาง (ผอ.ศูนย์ ทสปช.กลาง) เพื่อนำหลักสูตร “การประมงกับความมั่นคงของชาติในทะเล” มาใช้เป็นหลักสูตรอบรม ทสปช.ในทะเล และเปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็น “การประมงกับความมั่นคงของชาติและไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล” พร้อมทั้งจัดตั้งกลุ่มชาวประมงที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้มาแล้วเป็น ทสปช.ในทะเล ซึ่งผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไป (ผอ.ปค.) หรือผู้อำนวยการศูนย์ไทยอาสาป้องกันชาติกลาง (ผอ.ศูนย์ ทสปช.กลาง) ได้อนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินการได้ พร้อมทั้งได้มีคำสั่งที่ 1/2527 เรื่อง ไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล (ทสปช.ในทะเล) ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2527 และได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมในคำสั่ง ศูนย์ ทสปช.กลาง ที่ 1/2541 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2541 กำหนดแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานเกี่ยวกับ ทสปช.ในทะเล ดังนี้

วัตถุประสงค์ในการอบรมและจัดตั้ง ทสปช.ในทะเล

  1. เพื่อให้เกิดการรวมตัว ของกลุ่มชาวประมงตามท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายทะเล ทั้ง 22 จังหวัด เพื่อดำเนินการปฏิบัติการจิตวิทยาให้ชาวประมง และผู้มีอาชีพเกี่ยวกับการประมง มีทัศนะคติที่ดีและให้ความร่วมมือกับทางราชการและกองทัพเรือ ในการป้องกันการกระทำผิดในทะเลการป้องกันและปราบปรามโจรสลัด และมุ่งเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ
  2. เพื่อเสริมสร้างและเผยแพร่วิชาการที่เกื้อกูลแก่การประกอบอาชีพการประมงในทะเล รวมทั้งให้สามารถทำการติดต่อสื่อสาร และรายงานข่าวอันเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของชาติให้แก่ทางราชการ และกองทัพเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขต มี 3 เขต คือ

  1. ศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขตทัพเรือภาคที่ 1 มีผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 เป็น ผอ.ศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขตทัพเรือภาคที่ 1 รับผิดชอบในการดำเนินงานเกี่ยวกับไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
  2. ศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขตทัพเรือภาคที่ 2 มีผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 เป็น ผอ.ศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขตทัพเรือภาคที่ 2 รับผิดชอบในการดำเนินงานเกี่ยวกับไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล ในเขตจังหวัดสุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส
  3. ศูนย์ ทสปช.ในทะเลเขตทัพเรือภาคที่ 3 มีผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 เป็น ผอ.ศูนย์ทสปช. ในทะเลเขตทัพเรือภาคที่ 3 รับผิดชอบในการดำเนินงานเกี่ยวกับไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล ในเขตจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ภารกิจของไทยอาสาป้องกันชาติในทะเล

  1. ป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายทุกรูปแบบ หรือภัยจากการกระทำของฝ่ายตรงข้าม
  2. ป้องกันและต่อต้านการกระทำผิดทางทะเลในพื้นที่ทำการประมงของตน
  3. ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล
  4. สืบสวน คอยฟังข่าวสารการเคลื่อนไหวอันอาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วรีบรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
  5. ภารกิจอื่น ๆ ตามที่ ผอ.ทสปช.ในทะเลขึ้นไป มอบหมายการปฏิบัติภารกิจ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2804 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน