มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2996 ครั้ง
ผบ.ทสส. นำผบ.เหล่าทัพ ขึ้นเรือหลวงจักรีนฤเบศร ตรวจเยี่ยมการฝึกภาคสนาม ภาคทะเล ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2564 ทร.โชว์เขี้ยวเล็บ ยิงจรวด “ฮาร์พูน” นำวิถีพื้นสู่พื้น ในพื้นที่ทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต
วันนี้ (25 มี.ค.64) เวลา 08.00 น. พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วย พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.อ.ชูชาติ บัวขาว รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ รองผู้บัญชาการทหารบก เดินทางไปตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์การฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล ในการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2564 บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งจอดลอยลำอยู่ในพื้นที่ทะเลอันดามัน บริเวณจังหวัดภูเก็ต โดยมี พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2564 ให้การต้อนรับ
จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เชิญ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ฟังบรรยายสรุปการฝึกก่อนจะขึ้นชมการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้นสู่พื้น แบบ HARPOON BLOCK 1C โดยเรือหลวงตากสิน และการฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพเรือกับกองทัพอากาศ (LINK – E)
ต่อมาผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เดินทางไปยังดาดฟ้าบินของเรือหลวงจักรีนฤเบศร เพื่อให้โอวาทกำลังพลในส่วนต่าง ๆ ที่เข้ารับการฝึก ประกอบด้วย เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงตากสิน เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงสุโขทัย เรือหลวงกระบี่ เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เรือหลวงทยานชล เรือหลวงศรีราชา เรือ ต.992 เรือ ต.995 และ เรือ ต.996
ในช่วงบ่าย คณะผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้ออกเดินทางจากเรือหลวงจักรีนฤเบศร โดยเฮลิคอปเตอร์ของกองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ จากเรือหลวงจักรีนฤเบศร ไปยังบริเวณเขาลำปี ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เพื่อชมการยิงอาวุธทางยุทธวิธี และยิงเป้าอากาศยาน ของ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินและ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง โดยเป็นการจำลองภาพปฏิบัติการร่วมกันระหว่างกองกำลังเฉพาะกิจทางเรือ กับหน่วยต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ประจำพื้นที่ 3
โดยมีกำลังที่เข้าร่วมการฝึกประกอบด้วย เรือหลวงแหลมสิงห์ เรือ ต.994 เรือ ต.111 กำลังจากกองพันรักษาฝั่งที่ 11 กรมรักษาฝั่งที่ 1 (ปืนใหญ่รักษาฝั่งขนาด 155 มิลลิเมตร) และ กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 22 กรมต่อสู้อากาศยานที่ 2 (ปืนต่อสู้อากาศยานขนาด 37 มิลลิเมตร) รวมถึงกำลังจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน นอกจากนั้นยังมีการปฏิบัติร่วมกับเครื่องบินขับไล่แบบ กริพเพนของกองทัพอากาศ อีกด้วย
กองทัพเรือ ได้ตระหนักในหน้าที่หลัก ด้านการเตรียมความพร้อมของกำลังรบทางเรือ เพื่อการป้องกันประเทศ โดยการพัฒนากำลังพลและระบบยุทโธปกรณ์ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติการทางทหาร ในฐานะหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงทางทะเลของประเทศไทย ในการเตรียมกำลังให้เกิดความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศผ่านการฝึก ทั้งนี้ กองทัพเรือได้กำหนดให้หน่วยกำลังรบในทุกระดับ ดำเนินการเตรียมความพร้อมในระดับหน่วยตามความเชี่ยวชาญเฉพาะของกิจที่ได้รับ จนถึงการบูรณาการกำลังขนาดใหญ่เข้าด้วยกัน เพื่อฝึกการปฏิบัติการภายใต้สถานการณ์การฝึกตามแผนป้องกันประเทศในแต่ละด้าน โดยกำหนดแนวคิดหลักอ้างอิงจากสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดไว้ในการฝึกกองทัพเรือประจำปี ซึ่งนอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมของกำลังรบในการปฏิบัติการแล้ว การฝึกกองทัพเรือยังเป็นการทดสอบแผนการปฏิบัติ ระบบการควบคุมการบังคับบัญชา ระบบการสื่อสารและระบบการส่งกำลังบำรุงในภาพรวม ตลอดจนเป็นการทดสอบการปฏิบัติการร่วมระหว่างเหล่าทัพอีกด้วย
สำหรับในส่วนของการฝึกภาคทะเล นั้น เป็นการฝึกของกำลังทางเรือในการควบคุมทะเล และขยายอำนาจจากทะเลสู่ฝั่ง ตามแนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือ และแผนป้องกันประเทศในแต่ละด้าน โดยจัดตั้งกองเรือเฉพาะกิจปฏิบัติการระยะไกล ซึ่งเป็นกำลังเชิงรุก มีกำลังสำคัญ ประกอบด้วย หมวดเรือเฉพาะกิจโจมตี หมวดเรือเฉพาะกิจปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และหมวดเรือสนับสนุน โดยหมวดเรือเฉพาะกิจโจมตี ซึ่งมีกำลังประกอบด้วย เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงตากสิน เรือหลวงสุโขทัย และเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์
รวมทั้งอากาศยานประจำเรือ ได้ออกเดินทางจากฐานทัพเรือสัตหีบมายังพื้นที่ทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 และมีการฝึกปฏิบัติการในสาขาการรบต่าง ๆ ระหว่างการเดินทาง อาทิ การฝึกคุ้มกันกระบวนเรือที่มีคุณค่าทางยุทธการสูง ประกอบด้วย การต่อต้านเรือผิวน้ำ การปราบเรือดำน้ำ และการป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งในขณะที่หมวดเรือเฉพาะกิจโจมตีเดินทางผ่านบริเวณด้านตะวันออกของเกาะสมุย กองทัพอากาศได้จัดเครื่องบินขับไล่แบบ 20 และเครื่องบินเตือนภัยทางอากาศและควบคุม จากกองบิน7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมในการฝึกดังกล่าวด้วย
นอกจากนั้น ยังมีการฝึกการโจมตีเป้าหมายสำคัญของฝ่ายตรงข้ามทั้งในทะเลและพื้นที่บนฝั่ง โดยกำหนดให้กองเรือเฉพาะกิจปฏิบัติการระยะไกลเป็นกำลังข้าศึกสมมุติทำการโจมตีต่อกำลังของทัพเรือภาคต่าง ๆ ในระหว่างการเดินทางผ่านพื้นที่ของทัพเรือภาคนั้น ๆ และจะมีการฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบกในพื้นที่เป้าหมายเพื่อสถาปนาหัวหาดและทำการยุทธ์บรรจบกับกำลังทางบกตามแผนที่กำหนดไว้ต่อไป
นอกจากการฝึกภาคสนามและภาคทะเลที่จัดให้มีขึ้นในวันนี้แล้ว กองทัพเรือ ยังได้จัดให้มีการฝึกสนธิกำลังดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง บริเวณสนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี ในวันที่ 9 เมษายน 2564 โดยได้เชิญกองทัพบก และกองทัพอากาศ จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกตามรายการต่าง ๆ ซึ่งกองทัพเรือได้ดำเนินการต่อเนื่องและได้รับการตอบรับที่ดีจากทุกเหล่าทัพในทุกครั้ง ซึ่งจะทำให้ทราบถึงคุณลักษณะและขีดความสามารถของกำลังรบจากเหล่าทัพต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การวางแผนการใช้กำลังทางทหารและการปฏิบัติการรบร่วมที่มีประสิทธิภาพเกิดประสิทธิผลในการป้องกันประเทศในอนาคต ตามวิสัยทัศน์กองทัพไทยที่ “เป็นกองทัพชั้นนำในภูมิภาค มีนวัตกรรมทันสมัย ปฏิบัติการร่วมอย่างมีประสิทธิภาพทุกมิติ” และสร้างความสมัครสมานสามัคคี อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของกองทัพไทยในภาพรวม ตามคำขวัญของกองทัพเรือที่ว่า “พลังสามัคคี พลังราชนาวี”
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2996 ครั้ง