มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2261 ครั้ง
“ชำนาญ” อดีต ปธ.เเผนกคดีศาลฎีกา ยื่นร้อง ปปช. เอาผิด ก.ต.ศาลอุทธรณ์ ม.157 ทำผิดระเบียบฯ ใช้ไลน์ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง ก.ต.คนนอก
ผู้สื่อข่าวมีรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.64 นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีต ปธ.แผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ยื่นคำร้องถึงประธานคณะกรรมการปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร้องเรียนการกระทำของเจ้าพนักงานรัฐหนังสือ ลงวันที่ 9 มิ.ย. ความว่า
สำนักงานศาลยุติธรรม ได้ประกาศรับสมัครบุคคลเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต.คนนอก) ตามมาตรา 36 วรรคหนึ่ง (3) แห่ง พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ลงวันที่ 23 ธ.ค.2563 โดยกำหนดระยะเวลาการรับสมัครระหว่างวันที่ 24 ธ.ค.63 – 4 ม.ค.64 ซึ่งมีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจำนวน 4 คน ได้แก่ หมายเลข 1.นายวรสิทธิ์ โรจนพานิช 2.นายบุญศักดิ์ เจียมปรีชา 3.ศ. ดร. ไผทชิต เอกจริยกร และ 4.นายจำนง เฉลิมฉัตร
ซึ่งต่อมาผลการลงคะแนนปรากฏว่าหมายเลข 3ศ. ดร.ไผทชิต เอกจริยกรและหมายเลข 4.นายจำนง เฉลิมฉัตร เป็นผู้ได้รับการเลือกในการเลือกกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ นั้น ห้ามมิให้มีการหาเสียงโดย พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2553 มาตรา 17 วรรคสี่บัญญัติว่า
“ให้ถือว่าการกระทำใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการหาเสียงเพื่อให้ข้าราชการตุลาการลงคะแนนหรืองดเว้นลงคะแนนเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการใด ๆ เป็นการไม่ถือและปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ” อันมีผลกระทบต่อการพิจารณาโยกย้ายแต่งตั้งการเลื่อนตำแหน่งและวินัยของข้าราชการตุลาการตามมาตรา 17 และมาตรา 62
แต่ปรากฏว่าในการเลือก ก.ต. บุคคลภายนอกครั้งนี้ มีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว โดยการโพสต์ข้อความลงในแอปพลิเคชันไลน์กลุ่มต่างๆ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำใดๆ อันมีลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้ใดลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรายใดรายหนึ่งและงดเว้นลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครรายใดรายหนึ่ง โดยปรากฏว่ามีแอปพลิเคชั่นไลน์หนึ่ง ซึ่งมีผู้พิพากษาเป็นสมาชิกมากกว่า 1,000 คนชื่อ “สภาตุลาการ” มีผู้ใช้ชื่อโปรไฟล์ว่า “j29 Anuruk” อยู่ในกลุ่มไลน์ดังกล่าวด้วย และมีการกระทำในลักษณะเป็นการหาเสียงอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นการไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ
โดยผู้ใช้ไลน์ดังกล่าว เป็น ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิขั้นศาลอุทธรณ์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลและลงโทษผู้กระทำผิดข้อห้ามของกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการแล้วในการเลือก ก.ต.ศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ
จึงเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดหน้าที่และอำนาจโดยตรงของตุลาการท่านนั้น ซึ่งเป็น ก.ต. ในขณะนั้นในการที่จะดูแลกระบวนการในการเลือก ก.ต.คนนอก ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยบริสุทธิ์ยุติธรรมแก่ผู้สมัครทุกคนและวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติของผู้สมัคร
ดังนั้นการห้ามหาเสียงหรืออาศัยผู้อื่นหาเสียงย่อมอาจมีผลทำให้ผู้สมัครขาดคุณสมบัติและอาจทำให้กระบวนการในการเลือก ก.ต. ผู้ทรงคุณวุฒิในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายได้หากพิจารณาได้ความว่ามีการหาเสียงในการเลือกครั้งนั้นซึ่งเป็นข้อห้ามตามกฎหมาย และบุคคลที่จะต้องทำการวินิจฉัยว่ากระบวนการในการเลือก ก.ต. และคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับเลือกขัดต่อข้อ 29 วรรคสองของข้อบังคับของประธานศาลฎีกาก็คือ ก.ต. ตามที่พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม มาตรา 37 วรรคสามกำหนดหน้าที่และอำนาจไว้
การกระทำของบุคคลดังกล่าวซึ่งนอกจากจะเป็นผู้พิพากษาที่จะต้องปฏิบัติตาม พรบ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมแล้วยังเป็น ก.ต. ซึ่งเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และเป็น “เจ้าพนักงานของรัฐ” แต่กลับปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยไม่ตักเตือนหรือดำเนินการทางวินัยแก่บุคคลในไลน์กลุ่มดังกล่าว และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยกระทำผิดวินัยเสียเองโดยการหาเสียงให้แก่ผู้สมัครหมายเลข 3 และหมายเลข 4 ซึ่งเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้สมัครรายอื่นเพราะจะเป็นการทำให้ผู้สมัครหมายเลข 1 และหมายเลข 2 เสียเปรียบ
เหตุสำคัญดังกล่าว จึงจำเป็นต้องป้องกันและปราบปรามมิให้มีการกระทำเช่นนี้จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการตามกฎหมาย
นายชำนาญ ยังได้เเนบเอกสารหลักฐานเป็น สำเนาหนังสือสำนักงานศาลยุติธรรม พร้อมหลักเกณฑ์การห้ามหาเสียงเลือกกรรมการหรืออนุกรรมการใดๆ, สำเนาหนังสือสำนักงานศาลยุติธรรมพร้อมสำเนาประกาศ ก.ต. เรื่องแนวทางพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมในการหาเสียง, เอกสารจากหน้าจอไลน์จำนวน 69 เเผ่น, เอกสารจากหน้าจอไลน์แสดงการโพสต์ข้อความของผู้ใช้ชื่อโปรไฟล์ไลน์ว่า j29 Anuruk จำนวน 11 แผ่น, เอกสารจากหน้าจอไลน์กลุ่มต่างๆ ที่มีบุคคลอื่นโพสต์ข้อความอันเข้าลักษณะเป็นการหาเสียงให้แก่ผู้สมัคร ก.ต. จำนวน 19 แผ่น ประกอบคำร้องด้วย
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2261 ครั้ง