“เกษตรฯ-พาณิชย์” เดินหน้า 7 มาตรการแก้ปัญหาผลไม้ไทยราคาตก หลังจีน-เวียดนาม ออกมาตรการโควิด

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1898 ครั้ง

“เกษตรฯ-พาณิชย์” เดินหน้า 7 มาตรการ ล่าสุดแก้ปัญหาลำไยเหนือ-ผลไม้ใต้ หลังจีน-เวียดนาม ออกมาตรการโควิดใหม่กระทบส่งออกทำมังคุดใต้ราคาตก “อลงกรณ์” แนะผู้ส่งออกใช้ด่าน” ตงชิง-ผิงเสียง” แก้ปัญหาด่านโหยวอี้กวน-โมฮ่านติดขัดจนคอนเทนเนอร์ขาดแคลน พร้อมประสาน 900 ล้งภาคตะวันออกลงใต้ เร่งกลยุทธ์ขยายการค้าออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มเพิ่มการบริโภคในประเทศ

วันนี้ (26 ก.ค.64) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษาและมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้ติดตามสถานการณ์ตั้งแต่เข้าฤดูกาลลำไยภาคเหนือและผลไม้ภาคใต้อย่างใกล้ชิดตามข้อสั่งการของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้ ซึ่งผลผลิตออกมาเร็วกว่ากำหนด 1 เดือน ซึ่งราคาลำไยและมังคุดในเดือนมิถุนายนอยู่ในเกณฑ์ดีส่งออกได้มากขึ้น

แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมทำให้มีการออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มข้นมากกว่าเดิม โดยทางการจีน เวียดนาม รวมทั้งไทยส่งต่อการค้าการขนส่งและการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย จึงได้จัดประชุมทางไกลเร่งด่วนและประสานการทำงานกับสำนักงานเกษตรของไทยในจีน รวมทั้งสมาคมผู้ประกอบการค้าผลไม้ที่มีสมาชิกกว่า 900 ล้ง และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ใหม่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยสรุปปัญหาล่าสุดและกำหนดมาตรการเพิ่มเติม 7 ประการดังนี้

1.เร่งการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์กลับจากจีนและเวียดนามทั้งการขนส่งทางบกและทางเรือให้หมุนเวียนกลับมาไทยเร็วที่สุด

2.ขอการสนับสนุนจาก “ศบค.” จัดหาวัคซีนจำนวนอย่างน้อย 30,000 โด้ส ให้แก่พนักงานและแรงงานของบริษัทส่งออกและล้งตลอดห่วงโซ่ผลไม้เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานของล้งและบริษัทส่งออก

3.ผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิดและอำนวยความสะดวกให้ผู้ค้าและล้งจากภาคตะวันออก ซึ่งมีกว่า 900 ล้ง สามารถเข้าไปรับซื้อผลไม้ในพื้นที่จังหวัดชุมพรสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น

4.เร่งรณรงค์การบริโภคผลไม้ภายในประเทศ

5.ขยายการค้าออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม (B2C B2B B2F B2G)

6.เร่งระบายจำหน่ายผลไม้ออกจากพื้นที่กระจายทุกช่องทาง โดยขอความร่วมมือภาคเอกชนและภาครัฐ

7.สนับสนุนคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) และหน่วยงานภาครัฐ เร่งขับเคลื่อนมาตรการตามที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้านี้จากคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ ทั้งแผนงานและงบประมาณตามแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือและภาคใต้

นายอลงกรณ์ กล่าวย้ำเป็นข้อแนะนำด้วยว่า ขอให้ผู้ประกอบการส่งออกเข้าจีน ทางเขตปกครองตนเองกว่างสีจ้วง ใช้ด่านตงชิง และด่านผิงเสียงเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของด่านโหยวอี้กวน และปรับแผนการขนส่งที่จะผ่านเวียดนาม เพราะประกาศล่าสุดของทางการเวียดนาม เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ห้ามผ่านเขตกรุงฮานอย ทำให้ต้องเปลี่ยนเส้นทางขนส่งมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก 150 กิโลเมตร ทำให้การขนส่งทุกเส้นทางยากลำบากมาก เพราะเป็นฤดูฝนทั้งเส้นเชียงของ ผ่านด่านบ่อเตนของลาวไปผ่านด่านโมฮ่านในสิบสองปันนาของมณฑลยูนนาน และเส้นทางจากนครพนมผ่านลาวเวียดนามไปจีนที่กว่างสีจ้วงฝนตกหนักตลอด และมีการตรวจโควิดเข้มข้นทุกด่าน และบทลงโทษหากพบการปนเปื้อนโควิดก็รุนแรงมากขึ้นถึงขั้นถอนใบอนุญาตนำเข้า

นอกจากนี้ยังเป็นช่วงฤดูกาลผลไม้เวียดนามที่มีผลผลิตออกมามากทำให้การขนส่งผ่านด่านจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราก็ให้ทีมเกษตรและพาณิชย์ไทยในจีนช่วยดูแลหน้างานอย่างใกล้ชิด เร่งคลี่คลายความแออัด โดยทางการจีนให้ความร่วมมืออย่างดีพร้อมกับให้กำลังใจผู้ประกอบการอย่าท้อเพราะรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการทำงาน โดยเฉพาะ 7 มาตรการเพิ่มเติม ซึ่งได้รายงานต่อท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเกษตรฯ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา และท่านได้สั่งการทันที ให้ทุกภาคส่วนเร่งคลี่คลายแก้ปัญหา ล่าสุด คพจ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานร่วมกับพาณิชย์จังหวัดและเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ได้ผ่อนปรนให้ล้งเข้ารับซื้อมังคุดเพิ่มขึ้น พร้อมกันนั้นได้ขยายการค้าออนไลน์ และเพิ่มบริการขนส่ง โดยความร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทยคณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซและคณะอนุกรรมการธุรกิจเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

“พร้อมกันนี้ได้ประสานความร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ อสมท. และสื่อมวลชนทุกแขนง ช่วยรณรงค์บริโภคผลไม้ไทย เช่น ลำไย มังคุด เงาะ ลองกอง เป็นต้น เมื่อการส่งออกเริ่มติดขัดก็ปรับกลยุทธ์เพิ่มอุปสงค์ในประเทศ ตัวอย่างเช่นปีนี้ มังคุดภาคใต้มีผลผลิต 165,000 ตัน เพิ่มขึ้นกว่า 20% สัดส่วนส่งออก 60% บริโภคในประเทศ 40% และผลผลิตออกเร็วกว่าปกติ 1 เดือน จนชนกับผลไม้ปลายฤดูของภาคตะวันออก แถมล้งก็ข้ามเขตไปใต้แทบไม่ได้เลยเพราะมาตรการโควิดต้องตรวจโรค และไม่มีวัคซีนฉีดแรงงานชำนาญงานขาดแคลน ปัญหารุมเร้ามากตั้งแต่ต้นทางถึงด่านส่งออก รวมทั้งฝนที่ตกกระหน่ำในลาวและเวียดนามไม่เว้นแต่ละวัน แต่เราก็สู้เต็มกำลังทุกวัน เพื่อเกษตรกรของเรา เราจะฝ่าวิกฤตไปด้วยกันไม่ทอดทิ้งกัน” นายอลงกรณ์ กล่าวในที่สุด

นอกจากมาตรกรรเพิ่มเติม 7 ประการ ยังมีการพัฒนาคุณภาพผลผลิตตามความเหมาะสมของพื้นที่ การเชื่อมโยงตลาด ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรตามอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีโดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และหน่วยงานส่งเสริมต่างๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลไม้และผลไม้อัตลักษณ์ ตลอดจนการจัดทำแปลงเรียนรู้การส่งเสริมการผลิตตามระบบมาตรฐาน GAP GMP เกษตรอินทรีย์ (Organic) และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งขององค์กร ตามระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ สหกรณ์ และศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้ QR Code และการสร้างแบรนด์ (Branding) เป็นต้น

ภายใต้โมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตและ “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นแนวทางในการบริหารจัดการผลไม้ในสภาวะวิกฤติโควิด-19 เน้นร่วมบูรณาการทุกภาคส่วน และการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมจากศูนย์ AIC เพื่อยืดอายุผลผลิต และแปรรูปยกระดับสู่อุตสาหกรรมเกษตรอาหาร เพิ่มมูลค่ารายได้ให้มากขึ้นต่อไป

จากข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตร (23 ก.ค.64) ถึงสถานการณ์การเก็บเกี่ยวผลไม้ภาคใต้ มีดังนี้ ทุเรียน ผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้ว ร้อยละ 32.83, เงาะ ผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้วร้อยละ 33.46, มังคุด ผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้วร้อยละ 23.16, ลองกอง ผลผลิตเก็บเกี่ยวแล้วร้อยละ 0.2

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1898 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน