กฟผ. ให้ความสำคัญทุกข้อคิดเห็นของประชาชน โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม)

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1337 ครั้ง

กฟผ. ให้ความสำคัญทุกข้อคิดเห็นของประชาชน เดินหน้ากำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) อย่างรอบคอบ สร้างความมั่นใจให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า

กฟผ. รวบรวมทุกข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 พร้อมกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นใจในมาตรการครบทุกด้าน

นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ร่วมกับบริษัท ซีคอท จำกัด (บริษัทที่ปรึกษา) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยได้ดำเนินการจัดกิจกรรมในรูปแบบการแสดงความคิดเห็นทางไปรษณีย์และจัดการประชุมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้ร่วมแสดงความเห็นจำนวน 423 คน ประกอบด้วยประชาชนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป

สำหรับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของชุมชนที่มีต่อการพัฒนาโครงการ กฟผ. จะนำมากำหนดมาตรการดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดในทุกช่วงของการพัฒนาโครงการตั้งแต่ระยะรื้อถอน ก่อสร้าง และระยะดำเนินการได้แก่ มาตรการควบคุมดูแลการปล่อยน้ำที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้า จะมีการควบคุมอุณหภูมิน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนน้ำที่ผ่านการใช้งานแล้วจะมีการบำบัดแล้วนำมาใช้ประโยชน์ภายในโรงไฟฟ้า สำหรับด้านคมนาคมขนส่งในระยะรื้อถอน และ ก่อสร้าง กฟผ. จะกำหนดให้หลีกเลี่ยงการขนส่งในช่วงเวลาเร่งด่วนในพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ กฟผ. ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานพัฒนาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคุณภาพชีวิตของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ภายใต้คณะกรรมการร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ

การสรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 2 โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 รวมถึงประเด็นคำถามและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุม กฟผ. ได้ดำเนินการชี้แจง อธิบายในประเด็นข้อห่วงกังวลต่าง ๆ ของชุมชน โดยการส่งจดหมายให้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและชุมชนในพื้นที่ได้รับทราบ พร้อมทั้งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ www.egat.co.th และ www.secot.co.th หลังจากนั้น บริษัทจะรวบรวมข้อคิดเห็นที่ได้ทั้งหมด มาจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน และนำส่งรายงานฯ เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณาต่อไป

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1337 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน