มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1885 ครั้ง
“จุรินทร์-เฉลิมชัย” ขอบคุณคนไทยไม่ทิ้งกันช่วยซื้อมังคุดกว่า 2 หมื่นตัน ดันราคาเกินเป้า สั่ง “ฟรุ้ทบอร์ด” เดินหน้าช่วย “ลำไย-เงาะ-ลองกอง” ต่อเนื่องจนสิ้นฤดูกาลผลิตลำไยเหนือผลไม้ใต้ปี 64
วันนี้ (11 ส.ค.64) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า ภายใต้นโยบายยกระดับราคาผลไม้ฤดูกาลผลิตปี 2564 ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) โดยการขับเคลื่อนของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้ออกมาตรการเชิงรุกทุกแพลตฟอร์มตามแผนบริหารจัดการผลไม้ประจำปีการผลิต 2564 รวมทั้งการปรับกลยุทธ์ใหม่เน้นการบริโภคภายในประเทศทดแทนการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด-19 จนสามารถดึงมังคุดออกจากแหล่งผลิตจนถึงวันนี้ได้กว่า 20,000 ตัน ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 13-15 บาท สำหรับมังคุดเกรดคละและมังคุดเกรดคุณภาพ ราคาใกล้แตะที่กิโลกรัมละ 50 บาท ตามรายงานล่าสุดของกรมการค้าภายใน แม้จะเป็นช่วงพีคที่มีผลผลิตมังคุดออกมามากที่สุดถึง 60,000 ตัน ภายในเดือนสิงหาคมจากยอดรวมผลผลิตมังคุดภาคใต้รวมทั้งฤดูกาล 1.5 แสนตัน แต่เราก็สามารถยกระดับราคาได้เกินเป้าหมายจากมาตรการหลักมาตรการเสริมใหม่ๆ และการแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน
“การแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกขาดแคลน การแก้ปัญหาโลจิสติกส์ และการแก้ไขปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานและล้งจากภาคตะวันออกลงใต้จนคลี่คลายระดับหนึ่ง จากการทำงานร่วมกันของรัฐมนตรีเกษตร รัฐมนตรีพาณิชย์ และผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธาน (คพจ.) ทำให้ราคามังคุดเพิ่มขึ้น เช่น กรณีจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นฮับมังคุดภาคใต้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมมีเพียง 46 ล้ง แต่เมื่อมีการแก้ปัญหาและผ่อนปรนมาตรการอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันมีล้งเพิ่มเป็นกว่า 200 ราย และแผงรับซื้อผลไม้กว่า 400 แผง ที่เข้าไปรับซื้อในพื้นที่และการกลับมาเปิดบริการของบริษัทขนส่ง เช่น ไปรษณีย์ไทย เคอรี่ ส่งผลให้กลไกและระบบการค้าฟื้นกลับมา”
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ผลการดำเนินงานดังกล่าวมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐภาคเอกชนและภาคเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นมาตรการการเชื่อมโยงและกระจายมังคุดออกนอกแหล่งผลิต โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการแก่ศูนย์กระจายในจังหวัดแหล่งผลิต กก.ละ 3 บาท เพื่อกระจายมังคุดจำนวน 16,950 ตัน ออกนอกแหล่งผลิตโดยเร็ว มาตรการสนับสนุนค่าขนส่งและค่ากล่อง โดยกรมการค้าภายในร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทย สนับสนุนกล่องบรรจุภัณฑ์ที่มีสติกเกอร์ติดกล่องทั้งกล่องฟรีและส่งฟรีผลไม้ทั่วประเทศจำนวน 200,000 กล่องๆ ละ 10 กก. เพื่อช่วยกระจายผลไม้ 2 ล้านกิโลกรัม มาตรการการกระจายมังคุดผ่านระบบร้านค้าส่ง-ค้าปลีก ร้านธงฟ้า และเครือข่ายบริษัทน้ำมัน เช่น บริษัท พีทีจี เอนเนอยี จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เครือข่ายทายาทร้านค้าส่ง-ค้าปลีก (YTS) กว่า 100 สาขาทั่วประเทศ บริษัทสยามแม็คโคร โลตัส เซ็นทรัล เดอะมอลล์ บิ๊กซี ซีพีออลล์ มากกว่า 1 ล้านกิโลกรัม ขณะเดียวกันสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น และสถานีการน้ำมันบางจาก ยังมีการแจกมังคุดให้ผู้บริการเติมน้ำมันในเขตกรุงเทพฯ
รวมทั้งกลยุทธ์ล่าสุดคือโครงการ “เกษตรกรแฮปปี้” ภายใต้แนวคิด “คนกินยิ้มได้ เกษตรกรไทยแฮปปี้” บนความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดีอี กระทรวงมหาดไทย (คพจ.) บริษัท ไปรษณีย์ไทย, บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน), บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด, (ท็อปส์ มาร์เก็ต และ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์), บริษัท แกร็บ ประเทศไทย, เครือข่ายร้านธงฟ้า คณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซ และคณะอนุกรรมการธุรกิจเกษตรของกระทรวงเกษตรฯ สามารถระบายขายมังคุดเกรดคละได้กว่า 100 ตัน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยไม่ได้ใช้งบประมาณภาครัฐ ทั้งนี้ยังมีโครงการระบายมังคุดผ่านระบบสหกรณ์อีกหลายร้อยตัน ทั้งรูปแบบการซื้อขายและแลกเปลี่ยนมังคุดกับสินค้าเกษตรระหว่างสหกรณ์ ตลอดจนโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ กับ ททบ.5 กองทัพบก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และโครงการกระจายผลไม้ผ่านหน่วยงานรัฐและรัฐสภา ฯลฯ เราพยายามอย่างที่สุด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร อาจมีบางส่วนบางพื้นที่ที่ยังมีปัญหาด้านการขายและราคาก็พร้อมจะเข้าไปดูแลทันที เช่น กรณีมังคุดภูเขา “คีรีวง” ของนครศรีธรรมราช มีปัญหาพอแจ้งมาเราก็ส่งทีมเกษตร-พาณิชย์ ลงไปดูแลทันทีภายใน 24 ชั่วโมง
นายอลงกรณ์ พลบุตร ในฐานะหัวหน้าทีมบริหารจัดการผลไม้เฉพาะกิจของฟรุ้ทบอร์ด ยังกล่าวต่อไปว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ Fruit board และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์ ได้สั่งการให้ฟรุ้ทบอร์ดเร่งช่วยเหลือชาวสวนลำไยและเงาะที่มีราคาลดลงในช่วงกลางฤดูผลิตและลองกองอีกกว่า 4 หมื่นตัน ที่กำลังจะออกมาเป็นการล่วงหน้าโดยด่วน พร้อมกันนี้ยังได้ขอบคุณและเชิญชวนทุกภาคส่วนช่วยกันสนับสนุนซื้อผลไม้ไทยเพื่อช่วยชาวสวนให้ได้ราคาที่เป็นธรรม มีรายได้เพิ่มขึ้นจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูกาลผลไม้ปี 2564
นอกจากนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ยังได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลไม้ และระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) รวมทั้งมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 (COVID Free) ตามยุทธศาสตร์เกษตรปลอดภัย และให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจภายใต้ฟรุ้ทบอร์ด จัดทำแผนปฏิรูปการบริหารจัดการผลไม้เชิงโครงสร้างทั้งระบบ ทั้งระยะสั้นและระยะยาวภายใน 90 วัน โดยฟรุ้ทบอร์ด มอบที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ เป็นประธานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซากทุกปี โดยเฉพาะให้สร้างกลไกที่พร้อมปฏิบัติการฉุกเฉินได้ทันที เมื่อเกิดปัญหาเฉพาะหน้า เช่น กรณีปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในปีนี้ ที่ต้องปรับกลยุทธ์และปรับแผน แม้จะทำได้รวดเร็วก็ตามแต่ยังเป็นมาตรการเฉพาะกิจ บางครั้งต้องมีการประชุมทำให้เกิดปัญหาขั้นตอนราชการกว่าจะอนุมัติมาตรการใหม่ๆ ก็ต้องใช้เวลาไม่ทันการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน เหตุการณ์ปีนี้คือบทเรียน
ทั้งนี้จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ในเดือนมิถุนายนปีนี้ การส่งออกผลไม้เพิ่มขึ้น 185% และมังคุดส่งออกขยายตัวกว่า 400% แต่พอถึงเดือนกรกฎาคมเกิดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้มีการออกมาตรการล็อคดาวน์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของผลไม้ไทย รวมทั้งเวียดนามและลาวที่เป็นเส้นทางการขนส่งได้ยกระดับมาตรการป้องกันโควิด-19 เข้มข้นมากขึ้นทำให้ตู้คอนเทนเนอร์หมุนกลับมาไม่ทันล้งเคลื่อนย้ายไปภาคใต้ได้น้อยมาก ส่งผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ กลไกการค้าและราคาผลไม้จะเห็นว่าในสถานการณ์โควิด-19 มีโอกาสเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดได้ตลอดเวลา จึงต้องปรับการบริหารและโครงสร้างใหม่ เพื่อรับมือกับวันข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ทำงานเชิงรุกตลอดเวลาเช่นกัน ล่าสุด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ด้วยโครงการจับคู่ธุรกิจเพื่อเจรจาการค้าผ่านระบบออนไลน์ ในตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา ซึ่งผู้เข้าร่วมเจรจาธุรกิจเป็นผู้ส่งออกไทยจำนวน 123 บริษัท และมีผู้ซื้อ ผู้นำเข้าสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 74 ราย เกิดการจับคู่ธุรกิจได้จำนวน 123 คู่ ก็เป็นอีกมาตรการเพื่อขยายตลาดส่งออก โดยเฉพาะผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้ของไทย
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1885 ครั้ง