เลขากองทุนฟื้นฟูฯ โชว์ผลงานแก้หนี้และฟื้นฟูอาชีพ แถมช่วยเหลือช่วงโควิด-19 สำเร็จตามเป้า

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2164 ครั้ง

นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าในการแก้ปัญหาหนี้และการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรในองค์กรสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูฯ ของปีงบประมาณ 2564 ได้มีผลการดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนด โดยในส่วนของการแก้ไขปัญหาหนี้ ซึ่งเป็นหนี้ในระบบตามระเบียบที่กำหนด ภายใต้การเข้าไปช่วยเหลือจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. การฟื้นฟูอาชีพให้กับสมาชิกในรูปของกลุ่มหรือองค์กร ที่มีการเสนอแผนฟื้นฟู ได้รับการสนับสนุนทั้งในรูปเงินกู้ยืมและในรูปเงินอุดหนุน โดยนับตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ มาจนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการอุดหนุนและสนับสนุนแล้วรวมทั้งสิ้น 11,361 กลุ่ม คิดเป็นจำนวนเกษตรกรที่ได้ประโยชน์ 270,000 กว่าราย และ 2. การแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม ซึ่งเป็นหนี้ในระบบตามที่ระเบียบกำหนด เช่น หนี้สถาบันการเงินต่างๆ ได้มีการช่วยเหลือด้วยการเข้าไปซื้อหนี้และซื้อทรัพย์คืนจากเจ้าหนี้ แล้วนำมาไว้ที่กองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อให้เกษตรกรมาซื้อคืนภายหลัง รวมจำนวนทั้งสิ้น 30,161 ราย โดยใช้ทุนหมุนเวียนในการนี้ประมาณ 7,000 ล้านกว่าบาท

“ส่วนการให้ความช่วยเหลือจากการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ อย่างมาก จึงมอบหมายให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ และคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ กำหนดแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิก และได้นำมาสู่การแก้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรทำให้สามารถช่วยเหลือใน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่กู้ยืมเงินไปจากกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 11,361 กลุ่ม โดยในการช่วยเหลือ แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินให้เปล่า  9,558 กลุ่ม และเป็นกลุ่มที่กู้ยืม 1,803 กลุ่ม รวมเงินหมุนเวียนสนับสนุน 1,000 กว่าล้าน พร้อมกันนี้ยังมีการช่วยเหลือด้วยการงดคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ค้างตามสัญญากู้ที่องค์กรเกษตรกรกู้ยืม โดยเริ่มมาตั้งแต่เดือนมกราคม ที่ผ่านมา”

นายสไกร กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวจากสถานการระบาดของโควิด-19 ยังทำให้เกิดการอพยพของแรงงานที่ได้รับผลกระทบกลับสู่บ้านเกิดเป็นจำนวนมาก จากที่ทางกองทุนฟื้นฟูฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานสาขาจังหวัดได้ทำการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า ได้มีแรงงานที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีอายุในช่วง 30 ปีต้น ๆ กลับเข้ามาสู่ภาคการเกษตรเป็นจำนวนมาก และได้กลายเป็นแรงงานหลักที่ช่วยเหลือครอบครัวเกษตรกรสมาชิกของกองทุนฟื้นฟูฯ ดังนั้นทางกองทุนฟื้นฟูฯ จะเข้าไปช่วยสนับสนุนในด้านการสร้างแนวคิดในการพัฒนาอาชีพ ที่ต้องมาสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการผลิตอาหารปลอดภัยเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงขอให้เยาวชนที่กลับบ้านเกิดเพื่อทำอาชีพเกษตรได้มองถึงแนวทางความต้องการของตลาดในปัจจุบันที่ต้องการอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัย เพื่อให้กำหนดแนวทางในการประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้อง และประสบความสำเร็จ ไม่ต้องพบกับความล้มเหลวและต้องรอการช่วยเหลือจากรัฐบาลเหมือนในอดีต

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2164 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน