กฟผ. – ม.ศิลปากร ร่วมพัฒนาเยาวชนสร้างแอนิเมชันรักษ์สิ่งแวดล้อม

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1141 ครั้ง

กฟผ. ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการออนไลน์ SU – EGAT Young Animation Creators Workshop ในโครงการ EGAT Animation Awards 2021 ภาคกลางและภาคตะวันออก ภายใต้แนวคิด “ไฟฟ้า ความสุข ยั่งยืน สดชื่นเต็มปอด” มุ่งพัฒนาเยาวชนผลิตสื่อสร้างสรรค์รูปแบบแอนิเมชัน พร้อมสร้างความเข้าใจด้านพลังงาน และตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านมลภาวะทางอากาศ

ผศ.ดร.ณัฐพร กาญจนภูมิ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ SU – EGAT Young Animation Creators Workshop รูปแบบออนไลน์ ในโครงการ EGAT Animation Awards 2021 ภาคกลางและภาคตะวันออก โดยมีนางสาวรัชดาพร เสียงเสนาะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วยอาจารย์และนักศึกษาผู้ผ่านการคัดเลือก 10 ทีมสุดท้ายจากมหาวิทยาลัยในภาคกลาง เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งสิ้นกว่า 50 คน

ผศ.ดร.ณัฐพร กาญจนภูมิ กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อแอนิเมชันได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคิดและปรับพฤติกรรมของบุคคลได้ ด้วยภาพที่มีสีสันสดใส มีเสียงประกอบที่ช่วยสื่อความหมายให้เข้าใจได้ง่ายและจดจำได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น การจัดประกวดสร้างสื่อสร้างสรรค์พลังงานในรูปแบบ Animation ที่มุ่งไปยังกลุ่มของเยาวชนนี้ จึงไม่ได้เป็นเพียงโอกาสแลกเปลี่ยนทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ด้านแอนิเมชันของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น แต่งาน Animation ชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ในวงกว้างหากนำผลงานเหล่านั้นไปเผยแพร่ในสังคมต่อไป

ด้านนางสาวรัชดาพร เสียงเสนาะ กล่าวว่า กฟผ.ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านมลภาวะทางอากาศผ่านเยาวชนที่เป็นวัยแห่งการคิดสร้างสรรค์ มาผลิตผลงานในรูปแบบสื่อ Animation ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อหวังให้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ที่สามารถสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนตระหนักและ ร่วมเป็น รักษาสิ่งแวดล้อมได้ต่อไป

สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติในครั้งนี้ นักศึกษาผู้ผ่านการคัดเลือก 10 ทีมสุดท้าย จะได้รับความรู้ ความเข้าใจ เพื่อใช้สำหรับการผลิตผลงานแอนิเมชัน ทั้งด้านภารกิจของ กฟผ. โดยวิทยากรจาก กฟผ.และความรู้ด้านการผลิตสื่อสร้างสรรค์จากผู้เชี่ยวชาญมากด้วยประสบการณ์ ประกอบด้วย การบรรยาย เทคนิคการผลิตสื่อแอนิเมชัน” โดยอาจารย์ปัญญา ผาสุกโกวิทสิริ ผู้ที่มีประสบการณ์ทำงานด้านแอนิเมชันกว่า 20 ปี การ บรรยาย “จริยธรรมการสื่อสารสำหรับภาพยนตร์” โดย อาจารย์ศาสวัต บุญศรี ผู้มีประสบการณ์ด้านภาพยนตร์ และ “เทคนิคการเล่าเรื่อง Storytelling” โดย อาจารย์วันเฉลิม ชูตระกูล Founder Art Combo Studio เจ้าของผลงาน “ก้านกล้วย” และผลงานแอนิเมชันที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทั้ง 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบได้ร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการในวันที่ 23 – 24 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมพร้อมที่จะผลิตสื่อ Animation เข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศต่อไป

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1141 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน