มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2079 ครั้ง
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยื่น 4 ข้อเสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ปรับแผนดำเนินโครงการ “ERC Sandbox” เข้าสู่ยุค อุตสาหกรรมสีเขียว ชี้ เปลี่ยนแปลงพลังงานชาติเป็นประเด็นสำคัญ หวั่นกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้สรุปผลการสัมมนา “RE100 Thailand: Heading for Carbon Emission Net Zero” ที่จัดขึ้นภายใต้งาน ASEAN SUSTAINABLE ENERGY WEEK 2021 AND PUMPS & VALVES ASIA 2021VIRTUAL EDITION ซึ่งเป็นการประชุมแบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 15 ต.ค.64 ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. ได้จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นการที่จะกำหนดทิศทางพลังงานของประเทศ ซึ่งการดำเนินโครงการ ERC Sandbox จึงจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง รวมถึงความเชื่อมโยงด้านพลังงานที่มีผลกระทบกับภาคส่วนอื่นของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน ดังนั้น การกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับตัวของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยจะต้องให้ความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน มิฉะนั้นจะเกิดผลเสียหายโดยรวมต่อประเทศ และประชาชน อันจะส่งผลให้ประเทศไม่สามารถแข่งขันทางการค้ากับเวทีโลกได้อีกต่อไป จึงขอให้ความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการ ERC Sandbox ดังนี้
1. กรอบเวลาของการดำเนินโครงการ ERC Sandbox ใช้ระยะเวลานานเกินควร ทำให้ไม่ทันต่อเหตุการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปกับความเดือดร้อนของประเทศ ที่ประเทศต่างๆ มีมาตรการทางการค้า การลงทุนที่มุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น การดำเนินโครงการควรมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนมากกว่านี้ และควรให้ภาคส่วนต่างๆ มาช่วยกำหนดแนวทาง และการดำเนินงานของโครงการ ไม่ใช่เฉพาะภาคส่วนพลังงานเท่านั้น ยังรวมไปถึงภาคเศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิต และผู้ใช้พลังงาน ที่จะต้องเข้ามามีบทบาทให้มากที่สุดในการดำเนินโครงการ ERC Sandbox ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชน และประเทศ ฯลฯ อีกทั้งรัฐบาลควรส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้ Excess Capacity สายส่งของการไฟฟ้าได้ โดยให้ประชาชนซื้อขายไฟฟ้าข้ามสายส่งกันได้ โดยเฉพาะไฟฟ้าที่มาจากพลังงานสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ที่ได้กำหนดการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารกิจการไฟฟ้า โดยส่งเสริม และจัดทำระเบียบกฎเกณฑ์สำหรับ Third Party Access (TPA) ของระบบส่ง และระบบจำหน่าย, ส่งเสริมกิจการจำหน่าย (Retail) เพื่อเพิ่มบทบาทของภาคเอกชน และส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันมากขึ้นในระบบไฟฟ้า
2. การดำเนินโครงการ ERC Sandbox กำหนดให้โครงการที่ทำการทดสอบไม่ให้มีผลกำไรในเชิงการค้า หมายถึง โครงการที่ทดสอบมีกำไรไม่ได้เลยนั้น รัฐควรกำหนดให้มีค่าตอบแทนในการดำเนินการทดสอบภายใต้โครงการ ERC Sandbox การทำโครงการต้องเสมือนดำเนินธุรกิจจริงมากที่สุด ค่าตอบแทนมีได้ แต่ต้องพิจารณาว่าควรมีอัตราเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม การกำหนดหลักเกณฑ์ควรมีความชัดเจนไม่ควรให้หน่วยงานรัฐไปตีความเอง รัฐอาจจะกำหนดเป็นอัตราค่าตอบแทน หรือกำไรไม่ควรเกินเท่าไหร่ โดยอ้างอิงอัตราผลตอบแทนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตาม อัตราส่วน (ratio) ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนควรส่งเสริมให้เอกชนเข้ามาใช้สายส่งของการไฟฟ้าในส่วนที่เป็น Excess Capacity โดยคิดค่า wheeling charge ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้เอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้
3. การกำหนดอัตรา Wheeling Charge ที่ 1.151 บาทต่อหน่วย ควรเปิดเผยการคำนวณราคาอย่างชัดเจน โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งอัตราที่ใช้ทดลองในโครงการของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. จะเห็นว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไป ไม่จูงใจให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนผลิต และขายไฟฟ้าตรงให้เอกชนได้ หรือ Peer-to-Peer (P2P) ซึ่งควรกำหนดอัตราที่เหมาะสม เพื่อจูงใจเอกชน และไม่กระทบต่อรายได้ของหน่วยงานการไฟฟ้า และควรจะต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% หรือ RE100 ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นปัญหาสำคัญในการเกิดภาวะโลกร้อน
4. ควรจะระบุให้ชัดเจนว่าอัตรา Wheeling Charge ที่ประกาศนี้ คือ “ค่าใช้สายส่ง” ในส่วนระบบส่งไฟฟ้า หรือระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นอย่างไร และมีการรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้วทั้งหมดหรือไม่ อาทิ รวมค่า Ancillary Services, Backup, Imbalance, Connection, Loss และ Policy Expense รวมถึงมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ แอบแฝง ในขั้นตอนอื่นอีกหรือไม่
ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมาย ผู้ที่เข้าโครงการ ERC Sandbox ต้องมีการพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญ รวมถึงมาตรการต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นมาตรฐานสากลที่สูงขึ้นทางการค้า ประเทศไทยจึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อมาตรฐาน หรือกติกาใหม่ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป หากภาครัฐไม่เร่งดำเนินการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน อาจจะส่งผลเสียต่อประเทศ ซึ่งส่งผลต่อ GDP ของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคส่งออกที่เป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งรัฐจะต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานให้เข้าสู่ยุคใหม่ หรือยุค “อุตสาหกรรมสีเขียว” อย่างไรก็ตาม ทาง ส.อ.ท. จะนำหนังสือดังกล่าวยื่นให้ กกพ. พิจารณาวางแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2079 ครั้ง