ศรชล. สกัดเรือประมงเสี่ยงเข้าทำประมงในพื้นที่หวงห้ามกลางทะเลระนอง

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1674 ครั้ง

ศรชล. สกัดเรือประมง “มณฑลสถาพร” เสี่ยงเข้าทำประมงในพื้นที่หวงห้ามกลางทะเลระนอง ด้วยเทคโนโลยีจากศูนย์การเฝ้าระวังฯ 

วันนี้ (18 ธ.ค.64) พลเรือตรี อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (โฆษก ศรชล.) แถลงว่า เมื่อวานนี้ (17 ธ.ค.64) ศรชล.ภาค 3 ได้รับแจ้งจากศูนย์เฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย (FMC) ของกรมประมง ซึ่งมีระบบการตรวจพิกัดเรือ ตรวจพบข้อมูลเป้าเรือประมง ชื่อ มณฑลสถาพร ทะเบียนเรือ 398501108 พบพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงเข้าทำประมงในเขตทะเลชายฝั่งทางทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะกำตก จ.ระนอง ห่างจากชายฝั่งประมาณ 1.26 – 1.36 ไมล์ทะเล อยู่ในเขตพื้นที่หวงห้ามทำการประมงที่กำหนดไว้ต้องห่างจากฝั่งตั้งแต่ 1.6 ไมล์ทะเลออกไป ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำวัยอ่อน และแนวปะการัง ได้กำหนดประกาศไว้ตามข้อกำหนด ทั้งนี้ทางศูนย์ FMC ได้ทำการเฝ้าระวังและติดตามเป้าเรือดังกล่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.64

ในการนี้ พลเรือโท สมพงษ์ นาคทอง ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 / ผอ.ศรชล.ภาค 3 ได้สั่งการให้ ศรชล.ภาค 3 บูรณาการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกไปทำการตรวจสอบเรือประมงดังกล่าว โดยมีเรือ ต.232 จากทัพเรือภาคที่ 3 และเรือ ตรน.629 จาก กองบังคับการตำรวจน้ำภาค 8 เข้าร่วมทำการตรวจสอบ และได้พบเรือมณฑลสถาพร จึงได้ควบคุม เรือดังกล่าว ซึ่งมีผู้ควบคุมเรือพร้อมลูกเรือ จำนวน 8 คน (ไทย 2 คน เมียนมา 6 คน) เดินทางกลับเข้าไปยังท่าเทียบเรือแพเจริญกิจ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง เพื่อดำเนินการตามขั้นตอน โดย ศรชล.ภาค 3 ได้ประสานกับ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมงระนอง (PIPO จ.ระนอง) จัดเจ้าหน้าที่ชุดตรวจเรือเข้าดำเนินการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงร่วมกับเจ้าของเรือด้วย เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

โฆษก ศรชล. กล่าวเพิ่มเติมว่า พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ /รองผู้อำนวยการ ศรชล. ได้มอบนโยบายถึงการทำหน้าที่ของ ศรชล. ส่วนหนึ่งไว้ว่า ให้ประสานการปฏิบัติงานเชิงบูรณาการและบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง พร้อมทั้ง ดำรงมาตรฐานและความต่อเนื่องในการกำกับดูแลหน่วยงาน ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายฯ (IUU Fishing) และการปราบปรามการค้ามนุษย์ การปฏิบัติการในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการบูรณาการและประสานการปฏิบัติของหน่วยงานใน ศรชล. ที่สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาการกระทำประมงผิดกฎหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อความยั่งยืน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล และผลประโยชน์แท้แก่ปวงชนชาวไทย อันทำให้เกิดผลดีต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศอีกด้วย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1674 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน