‘ไข่เค็มครูกุ้ง’ เรื่องราวแห่งความสุขของอดีตนายทหารเมืองสองแควสู่พ่อค้าออนไลน์ในวัย 50 กับดีแทค เน็ตทำกิน

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1466 ครั้ง

การออกจากพื้นที่ปลอดภัยหรือ Comfort zone นั้นนับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของชีวิต เพื่อแลกมากับความสุขที่คาดหวังไว้ แต่การเปลี่ยนแปลงมักมาพร้อมกับความเสี่ยงและความรู้สึกไม่แน่นอนต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับวัยเกษียณที่กำลังมองหาจุดมุ่งหมายใหม่ในชีวิต

dtacblog เดินทางไปเยือนจังหวัดพิษณุโลก เมืองสองแคว เพื่อพูดคุยกับอดีตนายทหารชั้นสัญญาบัตรท่านหนึ่ง ผู้ตัดสินใจหันหลังให้กับเส้นทางราชการที่มีความมั่นคงเพื่อคว้าโอกาสบนโลกออนไลน์ เขาคือ วันชัย เอี่ยมกาย หรือ ‘พี่โก้ต’ อายุ 50 ปี อดีตผู้บังคับหน่วยรบพิเศษ ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ

แรงบันดาลใจจากโลกออนไลน์

“ผมเป็นทหารอาชีพ รับราชการทหารตั้งแต่ศึกษาจบ ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน สลับกับการประจำการที่ค่ายสมเด็จพระนเรศวร จ.พิษณุโลก เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน แต่โดยพื้นฐานผมเป็นคนไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบคิดอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับรู้สึกว่าถึงจุดอิ่มตัว อยากใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ จึงนึกถึงการทำไข่เค็มขึ้นมาเป็นอันดับแรก” วันชัยเล่าถึงจุดเปลี่ยนสู่การก้าวเป็นพ่อค้าออนไลน์

สมัยเป็นทหาร วันชัยได้มีโอกาสคลุกคลีกับกลุ่มแม่บ้าน ได้เรียนรู้วิธีทำไข่เค็ม ซึ่งใช้วัตถุดิบไม่กี่อย่าง คือ ไข่เป็ด ดินสอพอง และเกลือ ประกอบกับเชื้อไฟที่คุณพ่อและแม่ของเขาทำอาชีพค้าขายมาก่อน จึงมีความสนใจอย่างยิ่งในการทดลองทำไข่เค็มขาย

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว วันชัยเริ่มต้นเส้นทางไข่เค็มกะทิครูกุ้งจาก ศูนย์ เขาลองผิดลองถูกและทดลองสูตรไปเรื่อยๆ โดยหาข้อมูลความรู้ทั้งด้านการผลิตและการตลาดจากออนไลน์ที่ ครูกุ้ง ศรีภรรยาคู่ชีวิตมักเล่นให้เห็นเสมอ เมื่อเวลาผ่านไป เป้าหมายของวันชัยค่อยๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเขาตระหนักว่าต้องพยายามสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างจุดยืนทางการตลาดที่ชัดเจน

ในช่วงแรก วันชัยลงมือเสาะหาวัตถุดิบด้วยตนเอง ขับรถไปตามฟาร์มไข่ หาเกลือ หาเเกลบดำ และดินสอพอง มาคลุกเคล้าแล้วพอก และเพิ่มวัตถุดิบอย่างน้ำกะทิเข้าไปเพื่อสร้างความแตกต่าง ผลลัพธ์ที่ได้คือไข่เค็มที่หอมมัน กลมกล่อม และเนื้อเนียน ต่างจากไข่เค็มของเจ้าตลาดอย่างที่สุราษฎร์ธานีและลพบุรี

สร้างจุดยืนตลาดที่แตกต่าง

กว่าจะเป็นไข่เค็มครูกุ้งในทุกวันนี้ วันชัยใช้เวลาพัฒนาผลิตภัณฑ์ราว 5 เดือน โดยทดลองสูตรกับไข่เป็ดไปแล้วหลายพันฟอง เนื่องจากทดลองครั้งหนึ่งใช้ไข่เป็ดราว 300-400 ฟอง และบางล็อตก็ออกมาไม่ได้คุณภาพบ้างเพราะใส่น้ำกะทิมากเกินไป จนนำไปต้มแล้วไข่ไม่แข็งตัว เป็นเหมือนไข่ลวกเสียมากกว่า

เมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้สูตรที่คงที่แล้ว พอเมื่อต้องลงตลาดจริง วันชัยต้องเผชิญกับความท้าทายนานัปการ โดยเฉพาะเจ้าตลาดเดิมที่ส่วนใหญ่ขายผ่านร้านขายของชำ แต่ด้วยตำแหน่งทางการตลาดที่ชัดเจนแต่ต้น เขาจึงเน้นเจาะตลาดกลุ่มภัตตาคาร โดยชูความสดใหม่ของวัตถุดิบและบริการที่เป็นเลิศ

“ปกติแม่ครัวในภัตตาคารซื้อไข่เค็มมาในราคา 10 ฟอง 90 บาท ซึ่งยังไม่รวมการล้างทำความสะอาดและต้มสุก ด้วยช่องว่างนี้ ผมจึงใช้กลยุทธ์ราคาตีตลาดในราคาที่ต่ำกว่า แถมบริการทำความสะอาดและต้มสุก เรียกได้ว่าแม่ครัวแค่ปอกเปลือกก็เสิร์ฟให้ลูกค้าทานได้เลย แถมยังสดใหม่ จนปัจจุบันภัตตาคารชั้นนำของพิษณุโลกต่างใช้ไข่เค็มครูกุ้งในการเสิร์ฟอาหารชั้นเลิศแก่คนท้องที่” เขากล่าว

ก้าวต่อไปของพ่อค้าออนไลน์วัยเก๋า

เมื่อธุรกิจเริ่มไปได้ดี วันชัยซึ่งในขณะนั้นยังคงรับราชการทหารควบคู่กับการเป็นพ่อค้าไข่เค็ม ต้องตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิต นับเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับเขาซึ่งประกอบอาชีพที่ขึ้นชื่อว่ามีความมั่งคงมากมาตลอดชีวิต ก่อนสุดท้ายจะตัดสินใจเลือกเส้นทางที่เขาตั้งใจ และก้าวมาเป็นพ่อค้าไข่เค็มเต็มตัว

วันหนึ่งวันชัยเห็นข่าวของโครงการดีเแทคเน็ตทำกิน โครงการติดทักษะดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งถือเป็นน่านน้ำและโอกาสที่ขยายใหญ่ยิ่งขึ้น เขาจึงไม่รีรอส่งสมัครใบสมัครในทันที และได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ

“ผมใช้ดีแทคตั้งแต่ 1 มกราคม 2547 แต่งงานเสร็จแล้วใช้เลย 18 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่ามีความผูกพันกับดีแทคมาก ยิ่งมาเจอโครงการดีแทคเน็ตทำกิน มันมีความหมายต่อผมมาก ช่วยสานฝันผมให้เป็นจริงมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ เราไม่โกออนไลน์ไม่ได้แล้ว และจากการเข้าอบรมนี้เอง ช่วยให้คนที่ใช้ออนไลน์ไม่เป็นอย่างผมเข้าสู่ออนไลน์ได้อย่างมืออาชีพมากขึ้น คนรู้จักไข่เค็มครูกุ้งในวงกว้างขึ้นจนเกิดการบอกต่อ ตอนนี้ผมมีลูกค้าประจำทั่วประเทศ” วันชัยกล่าว

ทุกวันนี้ ไข่เค็มครูกุ้ง มีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าการขายในภัตตาคาร วันชัยต้องการสร้างแบรนด์ให้มีชื่อในฐานะของฝากแห่งเมืองสองแคว ปัจจุบัน ไข่เค็มครูกุ้งมีโรงงานผลิตขนาดย่อมอยู่ติดกับบ้านได้รับมาตรฐานทางสาธารณสุข ทั้งยังเป็นศูนย์เรียนรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจมาศึกษา ซึ่งมาจากน้ำพักน้ำแรงและทุนของวันชัยเองทั้งหมด

“จากส่งร้านอาหาร ผมอยากให้พิษณุโลกเป็นเมืองไข่เค็ม คนมักมองว่าพิษณุโลกเป็นเมืองทางผ่าน แต่ที่นี่มีทั้งวัดวาอารามและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ผมอยากเห็นจังหวัดบ้านเกิดกลายเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว และอยากส่งออกไข่เค็มให้โลกได้ลิ้มลองความละมุนของไข่เค็มกะทิครูกุ้งเมืองสองแควนี้ด้วย” วันชัยทิ้งท้าย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1466 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน