มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1164 ครั้ง
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ อดีต ส.ส.6 สมัย และอดีตรัฐมนตรี เขียนบทความในเฟสบุ้ควันนี้ เรื่อง “ปฏิรูปเกษตรไทย อนาคตประเทศไทย” “ปลดกระดุมทุกเม็ดแล้วกลัดใหม่” เป็นตอนที่ 2 ของซีรี่ย์ “ก้าวใหม่ประเทศไทย” อย่างน่าสนใจ…….
ก้าวใหม่ประเทศไทย (ตอนที่ 2) เรื่อง “ปฏิรูปเกษตรไทย อนาคตประเทศไทย” “ปลดกระดุมทุกเม็ดแล้วกลัดใหม่” โดย อลงกรณ์ พลบุตร 4 มกราคม 2564
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โครงการอาหารโลก (World Food Program) องค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานผลการประชุมสุดยอดระบบอาหารโลก (UN Food System Summit 2021) โดยสรุปว่า โลกกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นและการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ประชากรโลกประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารและราคาอาหารจะแพงขึ้น
เป็นวิกฤติของโลกแต่ก็เป็นโอกาสของไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารชั้นนำของโลก ประเทศไทยของเรามีศักยภาพการผลิตและการตลาดด้านเกษตรและอาหารสูงมาก
ปี 2560 เราเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 14 ของโลก
ปี 2561 ขึ้นเป็นอันดับ 12 ของโลก ซึ่งมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ที่ปีเดียวขึ้น 2 อันดับ และเป็นครั้งแรก ที่ขึ้นเป็นที่ 2 ของเอเซีย รองจากประเทศจีนเท่านั้น
ปี 2562 ขยับต่อเนื่องขึ้นเป็นอันดับ 11 ของโลก และยังครองอันดับ 2 ของเอเชีย
นับเป็นประเทศ “หนึ่งเดียวในโลก” ที่ 2 ปีขึ้น 3 อันดับ
ไทยแลนด์ โอนลี่ครับ
หลังโควิดคลี่คลาย เราจะสานฝัน “ครัวไทย ครัวโลก” สู่อันดับท็อปเทนของโลกตามนโยบายของรัฐบาล
วันนี้สินค้าเกษตรสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมของไทยติดท็อปเทนของโลกจำนวนไม่น้อย เช่น ยางพารา ยางรถยนต์ ถุงมือยาง น้ำตาล ทุเรียน ข้าว สัปปะรดกระป๋อง อาหารทะเล ทูน่ากระป๋อง อาหารสัตว์เลี้ยง เอทานอล มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ฯลฯ
ส่วนใหญ่ส่งออกในรูปวัตถุดิบและสินค้าแปรรูปขั้นต้นมูลค่าต่ำแบบที่เรียกว่า “ทำมากได้น้อย (More for Less)” ประเทศและเกษตรกรจึงมีรายได้น้อยมาอย่างยาวนาน เราจึงต้องเปลี่ยนใหม่สู่การ “ทำน้อยได้มาก (Less for More)”
ถ้าทำแบบเดิมๆ จะไม่สามารถยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรเทคออฟสู่เพดานใหม่ได้
อย่างไรก็ตามแม้โจทย์จะชัดเจนในตัวเอง แต่คำถามคือ แล้วเราจะทำอย่างไร
ผมจะยกตัวอย่างการถอดสมการนำมาสู่การออกแบบโมเดลการปฏิรูปภาคเกษตรไทย
ถ้าเราย้อนมองบริษัทเช่น Amazon Alibaba Google Apple Tesla จะได้คำตอบว่าทำไมบริษัทเหล่านี้จึงสามารถทะยานขึ้นสู่บริษัทแนวหน้าของโลกภายในเวลา 20 ปี โดยเฉพาะ Apple เป็นบริษัทแรกของโลกที่มีมูลค่าตลาดทะลุ 3 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (มากกว่างบประมาณไทย 30 ล้านเท่า)
คำตอบคือ วิสัยทัศน์ เทคโนโลยีและการบริหารจัดการใหม่ๆ
อีกตัวอย่างเช่น ประเทศจีนที่พัฒนาตัวเองจากประเทศยากจนด้อยพัฒนาสู่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 และมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีภายใน 30 ปี
คำตอบก็เหมือนกัน
การถอดบทเรียนจากตัวอย่างเหล่านี้ช่วยให้การดีไซน์การปฏิรูปง่ายขึ้น
การปลดกระดุมแล้วกลัดใหม่ จึงเกิดขึ้นที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกระบวนการปฏิรูปการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างและระบบ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นแก่นกลาง
2 ปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัดการปฏิรูปภาคเกษตรเดินหน้าภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (จบปริญญาเอกด้านยุทธศาสตร์โดยตรง) และนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีพาณิชย์ (เจ้าของสโลแกน “ทำได้ไวทำได้จริง”) ด้วยการสร้างกลไก4แกนหลักคือภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการและภาคเกษตรกร เป็น 4 เครื่องยนต์ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ยุทธศาสตร์ 3S (Safety-Security-Sustainability) เกษตรปลอดภัยเกษตรมั่นคงเกษตรยั่งยืน ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืน และยุทธศาสตร์บูรณาการทำงานเชิงรุก นโยบายโลจิสติกส์เกษตร นโยบายอาหารแห่งอนาคต รวมทั้งการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน และการบริการ 22 หน่วยงาน เพื่อยกระดับศักยภาพองค์กรและพัฒนาต้นน้ำการผลิตด้วยการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ลดต้นทุน การพัฒนาคนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของประเทศ
ผมจะเล่าให้ฟังโดยสังเขปว่า 2 ปีมานี้ เราทำอะไรไปบ้าง ขอยกตัวอย่างเพียง 10 เรื่อง
1. เราจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center) เรียกสั้นๆ ว่า ศูนย์ AIC 77 จังหวัด เป็นฐานเทคโนโลยีของทุกจังหวัด และยังมีศูนย์ AIC ประเภทศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะด้าน (Center of Excellence:COE) อีกกว่า 20 ศูนย์ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนา (R&D) และเป็นศูนย์อบรมบ่มเพาะเกษตรกรผู้ประกอบการและถ่ายทอดนวัตกรรมเน้นเมดอินไทยแลนด์ (Made In Thailand) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีของเราเอง โดยคิกออฟพร้อมกันทุกศูนย์ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อ 1 มิถุนายน 2563 วันนี้มีเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมกว่า 624 ชิ้นงาน พร้อมถ่ายทอดต่อยอดสู่แปลงนา แปลงสวน แปลงไร่ และอุตสาหกรรม ต่อเนื่องกว่า 7,000 ราย
เราจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ(National Agriculture Big Data Center:NABC)ภายใต้แพลตฟอร์มดิจิตอลใหม่ๆที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)เริ่มตั้งแต่มีนาคม2563 เพราะเทคโนโลยีข้อมูล(Information Technology)คือเครื่องมือเอนกประสงค์ของทุกภารกิจและทุกหน่วยงานโดยกำลังเชื่อมต่อกับBig Dataของหน่วยงานรัฐ เอกชนและศูนย์ AIC ทุกจังหวัด
เราปฏิรูปกระทรวงเกษตรฯ ภายใต้คอนเซ็ปท์ GovTech ให้เป็นกระทรวงที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี (TechMinistry) 22 หน่วยงานในสังกัดกำลังพัฒนาตัวเอง โดยโครงการดิจิตอล ทรานสฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) เพื่อเปลี่ยนบริการอนาล็อคเป็นบริการออนไลน์ เปลี่ยนการลงนามอนุมัติด้วยมือเป็นลายเซ็นดิจิตอล (Digital Signature) การเชื่อมโยงตามโครงการ National Single Window การบริการออนไลน์และแพลตฟอร์มแผนที่เกษตร (Agrimap) แบบmobile users
2. เราขับเคลื่อนฟาร์มอัจฉริยะ(smart farming)ตามแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเช่น ระบบเซนเซอร์ตรวจวัดดินน้ำอากาศและการอารักขาพืช การปรับระดับพื้นแปลงเกษตร (Land Leveling) ระบบเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ (Sead Technology) ระบบชลประทานอัจฉริยะรวมทั้งการใช้โดรนการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมและแพลตฟอร์มแผนที่เกษตรดิจิตอล (Agrimap platform)
3. เราริเริ่มโครงการใหม่ๆเช่นการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (urban Farming) อย่างเป็นระบบ เป็นครั้งแรกตอบโจทย์ Urbanization (ประชากรไทยในเมืองมากกว่าในชนบทตั้งแต่ปี 2562) การจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์ PGS แห่งประเทศไทย การขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 1.3 ล้านไร่ การวางหมุดหมายแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่บนฐานศาสตร์พระราชาทุกตำบล การจัดตั้งองค์กรชุมขนประมงท้องถิ่น 2 พันองค์กร การฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพประมงไทย การพัฒนาเกลือทะเลไทย การพัฒนาวัคซีนจากโปรตีนพืชสำหรับสัตว์ โครงการเกษตรแม่นยำ (Recision Agriculture) 2 ล้านไร่ โครงการพลังงานทดแทนโซล่ารถเซลล์ในฟาร์มกุ้งฟาร์มปลา โครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ตอบโจทย์ Climate Change โดยเพิ่มต้นไม้ลดก๊าซเรือนกระจกโครงการ Cold Chain ตลอดห่วงโซ่อุปทาน และระบบแช่แข็งด้วยไนโตรเจนเหลวแบบ Nitrogen Freezer เป็นตัวอย่าง
4. เราริเริ่มและขับเคลื่อนนโยบายอาหารแห่งอนาคต พืชแห่งอนาคต (Future Food Future Crop) เช่นการส่งเสริมโปรตีนทางเลือกจากพืช (Plant base Protein) มีบริษัท startup เกิดขึ้นจำนวนมาก การสนับสนุนโปรตีนทางเลือกจากแมลง (Edible Inseat base Protein) ปัจจุบันมีกว่า 2 หมื่นฟาร์ม (FAO ประกาศเมื่อ 3 ปีที่แล้วว่าแมลงกินได้ Edible Insect คืออนาคตใหม่ของโปรตีนโลก)
เราเปลี่ยนวิสัยทัศน์และแนวทางใหม่โดยโฟกัสการผลิตและการตลาดใหม่แบบคลัสเตอร์ เช่น คลัสเตอร์อาหารเจอาหาร Vegan และอาหาร Fleximiliam อาหารใหม่ (Novel food) คลัสเตอร์อาหารฮาลาล ซึ่งมีลูกค้ากลุ่มประชากรมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมกว่า 2 พันล้านคน มูลค่าตลาด 48 พันล้านบาท และการส่งเสริมการตลาดแบบไฮบริดแพลตฟอร์ม (hybrid marketing platform) ทั้งตลาดในและต่างประเทศ ทั้งออนไลน์ (on-line) ออฟไลน์ (off-line) และออนไซต์ (on-site) ด้วยโครงการ Local Hero ทุกจังหวัดมีทีม E-Commerce รับผิดชอบเป็นต้น
5. เราได้วางโรดแม็ปเส้นทางโลจิสติกส์เกษตรเชื่อมไทยเชื่อมโลก ในระบบการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ทั้งทางรถทางรางทางน้ำและทางอากาศ (Low Cost Air Cargo) เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มความรวดเร็วในการเข้าถึงตลาดทั่วโลกและตลาดเป้าหมายใหม่ เช่น โครงการดูไบคอริดอร์-ไทยแลนด์ คอริดอร์ (Dubai Coridor- Thailand Corridor), เส้นทางรถไฟอีต้าอีลู่ (BRI) เชื่อมไทย-ลาว-จีน สู่จีนทุกมณฑล-เอเซียใต้-เอเซียตะวันออก-เอเซียกลาง-ตะวันออกกลาง-รัสเซียและยุโรป และกำลังเปิดประตูใหม่จากอีสานสู่แปซิฟิกไปทวีปอเมริกาเหนืออเมริกาใต้และเปิดประตูตะวันตกประตูใต้สู่ทะเลอันดามัน-อ่าวเบงกอลและมหาสมุทรอินเดียสู่เอเซียใต้ อัฟริกา ตะวันออกกลางและยุโรป
6. เรากำลังปรับเปลี่ยนเกษตรแปลงย่อยเป็นเกษตรแปลงใหญ่ (Big Farm) ซึ่งขณะนี้ขยายเพิ่มเป็นกว่า 8,000 แปลงเป็นพื้นที่รวมกว่า 7 ล้านไร่ แล้วโดยมีการสนับสนุนเครื่องจักรกลเกษตรและระบบเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
7. เราพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่เป็น young smart farmer ได้กว่า 20,000 คน และส่งเสริมพัฒนาศูนย์ศพก.เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ระดับอำเภอพร้อมกับยกระดับเกษตรกรที่มีประสบการณ์สู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
8. เรานำระบบทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) มาใช้ในการสร้างเกษตรมูลค่าสูงสร้างผลิตภัณฑ์สร้างแบรนด์ ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยมีทีมงานรับผิดชอบโดยตรง
9. เราบริหารการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area base) ควบคู่กับการบริหารการพัฒนาเชิงคลัสเตอร์ เช่น โครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารทั้งหมด 18 กลุ่มจังหวัดเป็นศูนย์การแปรรูปผลผลิตเกษตร เพื่อกระจายการพัฒนาทุกภาคทุกจังหวัดไม่ให้เจริญแบบกระจุกตัว ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาโดยปี 2565 รัฐมนตรีเกษตรฯ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการเกษตรระดับอำเภอ 878 อำเภอทั่วประเทศ และคณะทำงานเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล 7,255 ตำบล เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนระดับพื้นที่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
10. ความก้าวหน้าของงานแต่ละด้านเกิดจากการบริหารแบบเปิดกว้างสร้างหุ้นส่วน (Partnership platform) ในการทำงานกับทุกภาคีภาคส่วน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมต่างๆ สถาบันอาหาร มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เครือข่ายองค์กรเอกชน ทุกกระทรวง และทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาล การยึดประโยชน์บ้านเมืองมาก่อนประโยชน์ทางการเมืองได้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจนำมาซึ่งความร่วมมืออย่างจริงจังและจริงใจ ประการสำคัญคือการทำงานอย่างทุ่มเทของคนกระทรวงเกษตรฯ
งานหนักและอุปสรรครออยู่ข้างหน้าอีกมาก แต่ด้วยก้าวใหม่ๆ ตามโรดแม็ปที่วางไว้ เราเดินเข้าใกล้เป้าหมายในทุกก้าวที่กล้าเดิน
การปฏิรูปรากฐานใหม่ของภาคเกษตรกรรม เพื่อสร้างศักยภาพใหม่ให้กับเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความพร้อมของประเทศในการเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ของวันนี้และวันหน้าเป็นอนาคตที่ต้องรีบสร้างโดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรไทยต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีรายได้สูงพ้นจากความยากจนและหนี้สินที่เสมือนเป็นโคลนติดล้อของชีวิตมาอย่างยาวนานและประเทศไทยของเราต้องเข้มแข็งและมั่งคั่งขึ้นเพื่อประโยชน์ของคนไทยทุกคนครับ
ยังมีเรื่องกระดุมอีกหลายเม็ดที่กลัดใหม่ไว้จะเล่าในโอกาสต่อๆ ไปครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน : นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ อดีต รมช.พาณิชย์ อดีต ส.ส.6 สมัย ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์ฯ
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1164 ครั้ง