“อลงกรณ์” ลุยภาคเหนือ เดินหน้า “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ปี 65 ตั้งบอร์ดลำไย เร่งปฏิรูปผลไม้ไทยสู่ “เกษตรมูลค่าสูง”

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1622 ครั้ง

เดินหน้า “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ปี 2565 “อลงกรณ์” ลุยภาคเหนือ ตั้งบอร์ดลำไยผนึกเกษตรกร-เอกชนเดินหน้าโครงการประกันราคาลำไยรูปแบบใหม่ พร้อมมอบศูนย์ AIC เชียงใหม่ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ พัฒนาเพิ่มมูลค่าครบวงจร ปักหมุดลำพูนเมืองหลวงลำไย เร่งปฏิรูปผลไม้ไทยเชื่อมแผน 13 ขับเคลื่อนสู่ “เกษตรมูลค่าสูง”

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดลำพูน เพื่อติดตามงานนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ผู้บริหาร ข้าราชการ และหน่วยงานภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมภาคีเครือข่ายเกษตรกรภาครัฐและเอกชน เพื่อการขับเคลื่อนการบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือที่สำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูและประชุมทางไกลตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นายภาษเดช หงส์ลดารมภ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ผู้แทนคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตร ระดับจังหวัด (คพจ.) จังหวัดลำพูน และผู้แทนคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตร ระดับจังหวัด (คพจ.) จังหวัดเชียงใหม่ และเชียงราย ผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้แทนหอการค้าจังหวัด ผู้แทนกรมการค้าภายใน ผู้แทนกรมการส่งเสริมค้าระหว่างประเทศ นายพงษ์ทร วิเศษสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ ประธานและ นายอมรพันธุ์ พูลสวัสดิ์ เลขานุการ คณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยภาคเหนือ (กร.กอ.ภาคเหนือ) และหัวหน้าหน่วยราชการ และหน่วยงานภาคเอกชนด้านการขนส่ง ตัวแทนผู้ประกอบการ (ล้ง) ในจังหวัดลำพูน  ตัวแทนเกษตรกรแปลงใหญ่และศพก. และผู้ที่เกี่ยวข้องโดยมี นายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นฝ่ายเลขานุการ

ที่ประชุมได้รับทราบ (1) รายงานการคาดการณ์แนวโน้มผลผลิตภาคเหนือ ปี 2565 (2) รายงานผลการบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ ปี 2564 และปัญหาอุปสรรค และที่ประชุมได้ร่วมหารือพิจารณาในแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ ระดับพื้นที่ (AREA BASED)

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ภายใต้โมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตและ “5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย” ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นแนวทางในการบริหารจัดการผลไม้ในสภาวะวิกฤติโควิด-19 โดยเน้นร่วมบูรณาการทุกภาคส่วน และการใช้เทคโนโลยีเพื่อยืดอายุผลผลิต และแปรรูปยกระดับสู่อุตสาหกรรมเกษตรอาหารเพิ่มมูลค่ารายได้ให้มากขึ้น ซึ่งในปี 2565 และปีต่อๆ ไปได้วางเป้าหมายพลิกโฉมภาคเกษตรไทยมุ่งเน้นการทำเกษตรมูลค่าสูง ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566 -2570) ในมิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมายหมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตร และเกษตรมูลค่าสูง มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานของภาคเกษตร และการสนับสนุนบทบาทของผู้ประกอบการเกษตร โดยมอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมหรือศูนย์AICภาคเหนือและอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือเร่งวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมรวมทั้งการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผลไม้

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า จังหวัดลำพูนเป็นศูนย์กลางลำไยภาคเหนือและเป็นเมืองหลวงลำไยโลก มีพื้นที่ปลูกลำไยกว่า 250,000 ไร่ เป็นแหล่งผลิตสำคัญในภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน จากสถานการณ์การผลิต ปี 2560 – 2564 เนื้อที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 1,451,714 ไร่ ในปี 2560 เป็น 1,655,036 ไร่ ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 ต่อปี ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 1,200,804 ตัน ในปี 2560 เป็น 1,437,740 ตัน ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.12 ต่อปี และผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 827 กิโลกรัมในปี 2560 เป็น 869 กิโลกรัม ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.004 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมสนับสนุนของรัฐบาล อย่างไรก็ตามเรายังเผชิญปัญหาราคาลำไยตกต่ำในบางปีบางฤดูเป็นปัญหาซ้ำซากตลอดมาจึงให้ดำเนินการโครงการประกันราคาลำไยขั้นต่ำบนความร่วมมือระหว่างภาคเกษตรกรและภาคเอกชนโดยการสนับสนุนของภาครัฐเป็นโมเดลใหม่เพื่อให้ทุกภาคส่วนเป็นหุ้นส่วนกัน (Partnership model) แบบ win-win ทุกฝ่ายเช่นที่กำลังดำเนินการกับอุตสาหกรรมกุ้งโดยบอร์ดกุ้งซึ่งภาคเอกชนตกลงกับเกษตรกรในการประกันราคาขั้นต่ำ โดยจะมีการประชุมภายใน2สัปดาห์หากเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายต่อไปจะขยายผลกับทุกกลุ่มสินค้าเกษตรต่อไป

นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตลำไยในพื้นทีภาคเหนืออย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการรองรับผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดล่วงหน้าตามแนวทางการบริหารจัดหารผลผลิตลำไยปี 2565 เช่น โครงการกระจายลำไยออกนอกแหล่งผลิต จังหวัดลำพูนโดย คพจ. ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณจากเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อเตรียมการรองรับการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากและราคาผลผลิตตกต่ำ เป้าหมาย การสนับสนุนค่าบริหารจัดการกระจายผลผลิตลำไยออกนอกแหล่งผลิต การรับซื้อในราคานำตลาดตลอดจนแนวทางการบริการจัดการ ตั้งแต่ต้นทาง คือ เน้นตลาดนำการผลิต การลดต้นทุน พัฒนาคุณภาพมาตรฐานเพิ่มผลิตภาพการผลิต การทำลำไยนอกฤดูการสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนายกระดับมาตรฐานเน้นการใช้เทคโนโลยีแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้หลากหลายตามความต้องการของตลาด การซื้อขายล่วงหน้าระบบ Pre-order การบริการจัดการระบบขนส่งและเพิ่มระบบ Cold Chain Logistics

พร้อมทั้งการขยายช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ออฟไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ การสร้างระบบ Traceability และ QR code เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพสินค้า ตลอดจนแนวทางส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่อให้ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูป ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งหมดนี้จะเป็นก้าวสำคัญให้ภาคเกษตรไทยก้าวสู่มิติใหม่ โดยใช้โมเดล Fair Trade ลำไย การค้าที่เป็นธรรมเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนลำไยอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการทำงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่นสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ร้านค้า โรงงานแปรรูป ล้ง และผู้ส่งออก

นอกจากนี้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้แต่งตั้งคณะทำงานกลุ่มสินค้าลำไย (ลำไยบอร์ด) เพื่อดูแลลำไยเป็นการเฉพาะอีกด้วย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1622 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน