สปสช .ยืนยัน 1330 “รับทุกสิทธิ ทุกสาย” เตรียม 2 พันคู่สายรับมือโควิดช่วงสงกรานต์

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1122 ครั้ง

Covid Forum ถกประเด็น ติดโควิด-19 ทำอย่างไร? สปสช.ยืนยัน 1330 “รับทุกสิทธิ ทุกสายชูแนวคิด ดูแลตัวเองเหมือนไข้หวัดใหญ่

วันนี้ (1 เม.ย.65) นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ กล่าวในรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ถึงประเด็น “เมื่อโควิดไม่ใช่เรื่องไกลตัว ติดแล้วทำอย่างไร ?”

นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า กรมสบส.มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลโควิด-19 ในหลายบทบาท ตั้งแต่ควบคุม ป้องกัน และรักษา โดยเรามีกำลังจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1.05 ล้านคนทั่วประเทศที่เป็นกลไกสำคัญในการแนะนำประชาชนดูแลตนเอง เชิญชวนฉีดวัคซีน และการตรวจ ATK ขณะที่ด้านการรักษา สบส.ได้ดูแลเรื่องยูเซ็ปพลัส (UCEP Plus) ภายใต้พระราชบัญญัติ (พรบ.) สถานพยาบาล ที่ขอความร่วมมือกับสถานพยาบาล โรงพยาบาล(รพ.) เอกชนในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดในภาวะฉุกเฉิน คือ ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง สีแดงและกลุ่มเขียวที่อาการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทั้งนี้ สำหรับเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง สธ. ได้เร่งรณรงค์การฉีดวัคซีนโควิด โดยเฉพาะการฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้อายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรั้งและหญิงตั้งครรภ์ เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคในกรณีที่มีการติดเชื้อได้ ด้านการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด มีแนวทางรักษาโดยกรมการแพทย์ สำหรับผู้ติดเชื้ออาการน้อย สามารถใช้ยารักษาตามอาการได้ เนื่องจากยาบางตัวมีข้อบ่งชี้ในการใช้ แต่ยืนยันว่ายาไม่มีความขาดแคลน อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยรอบด้าน เราจึงขอฝากถึงผู้ที่จะเดินทางไปต่างจังหวัดเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ให้ลดความเสี่ยงของตนเองก่อนเดินทาง เลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมเสี่ยง เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อแล้วนำเชื้อไปสู่ผู้ใหญ่ที่เรารัก และเพื่อให้เป็นสงกรานต์ที่มีความสุขและปลอดภัย

นพ.ฆนัท กล่าวว่า ช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีส่วนช่วยเหลือดูแลประชาชนอย่างมาก สถิติล่าสุดพบว่า การติดเชื้อในฝั่งเอเชียเริ่มแซงยุโรป อเมริกาแล้ว ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าหลังจากที่มีการติดเชื้อจำนวนหนึ่ง ก็ทำให้ประชากรมีภูมิคุ้นกันมากขึ้น ตรงนี้จึงทำให้เห็นได้ว่า โควิดใกล้ตัวเรามากขึ้น เทียบเหมือนกับโรคไข้หวัดที่เรามีโอกาสเป็นได้ทุกปี ทั้งนี้ สธ.และหน่วยงานทุกภาคส่วน ได้เร่งการฉีดวัคซีนโควิดต่อเนื่อง แต่ต้องเน้นย้ำว่าวัคซีนในปัจจุบันพัฒนามาจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์อู่ฮั่น และอยู่ระหว่างการศึกษาวัคซีนตัวใหม่ๆ คาดว่าเร็วที่สุดจะออกมาใน 2-3 เดือนนี้ ดังนั้น ระหว่างนี้แม้เราฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังต้องระวังตัวไม่ให้ติดเชื้อ เพื่อเลี่ยงการเกิดอาการลองโควิด (Long Covid-19) ทั้งนี้ ทางสมาคมสมาพันธ์ฯ มีหลายโครงการช่วยเหลือช่วงโควิด เช่น โควิดโฮมแคร์ (Covid-19 Home Care) เพื่อส่งชุดอุปกรณ์ดูแลตนเอง ยา และเวชภัณฑ์ให้ประชาชน

“สำหรับการโทรหาสายด่วน 1330 เราเข้าใจความร้อนใจของประชาชน แต่ด้วยอัตราสายโทรเข้าไปมาก เจ้าหน้าที่ก็อาจจะรับสายไม่ทัน แต่ต้องเรียนว่าสำหรับโอมิครอนที่อัตราเสียชีวิตน้อยกว่าเดลต้า 1-2% เหลือ 0.1-0.2% ลดลงกว่า 10 เท่า แต่การเสียชีวิตยังอยู่ในเสี่ยง 608 ดังนั้น คนส่วนใหญ่ 90-95% ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ สามารถสังเกตอาการใน 48 ชั่วโมง หากอาการไม่รุนแรงเพิ่มก็จะมีความปลอดภัย ดังนั้นการดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” นพ.ฆนัท กล่าว

ด้าน น.ส.ดวงนภา พิเชษฐ์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริการประชาชนและคุ้มครองสิทธิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า สำหรับ สปสช. เป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยการปรับบทบาทสายด่วน 1330 จากเดิมที่ให้ข้อมูลการใช้สิทธิบัตรทอง แต่เมื่อโควิดเข้ามาก็เปิดเป็นสายด่วนช่วยตอบข้อมูลให้ประชาชน จองฉีดวัคซีน เมื่อมีการระบาดมากขึ้น ก็จัดระบบรักษาที่บ้าน(HI) การส่งต่อผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและแดง ตอนนี้สายพันธุ์โอมิครอนที่อาการไม่รุนแรง ทางสธ. จึงมีนโยบาย เจอ แจก จบ ประชาชนสามารถเดินทางไปรับยาในสถานพยาบาลตามสิทธิสุขภาพแต่ละคนได้ ทางสายด่วนก็ข้อมูลส่วนนี้กับประชาชนด้วย สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ สายด่วน 1330 ก็จะรับเรื่อง ดำเนินการติดต่อไปยังหน่วยบริการเพื่อให้เข้าฮอสพิเทล (Hospitel) หรือศูนย์พักคอยในชุมชน (CI) อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนติดต่อมาที่สายด่วนแล้ว ก็จะส่งต่อไปยังหน่วยบริการ ที่ขั้นตอนนี้ต้องรอให้หน่วยบริการรับเรื่อง ดังนั้น ระหว่างที่รอแล้วมีอาการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ทางสายด่วน 1330 ได้สำรองเตียงทาง รพ.ภาครัฐ และเอกชนรองรับ ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่ามีเตียงสำรองเหลืออย่างไรด้วย สำหรับช่วงสงกรานต์มีการเตรียมสำหรับ 2 พันคู่สายรองรับไว้ ยืนยันว่าหากประชาชนที่ไม่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ในตอนที่โทรไป แต่จะมีการโทรกลับอย่างแน่นอน โดยทาง นพ.จเด็ด ธรรมธัชอารีย์ เลขาธิการสปสช. ยืนยันนโยบายสายด่วน 1330 ว่า รับทุกสิทธิ รับทุกสาย เพื่อให้มีการสื่อสารกับประชาชนและส่งต่อผู้ป่วยไปยังหน่วยงานต่างๆ ได้

นายอนุกูล ทรายเพชร ผู้อำนวยการมูลนิธิเส้นด้าย กล่าวว่า ตนได้หารือร่วมกับ สปสช. เพื่อให้มีการพัฒนาระบบของสายด่วน 1330 พร้อมการเปิดรับอาสาสมัครรับสายคุยกับผู้ป่วย ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือบางส่วน เช่น การกรอกข้อมูล เพื่อให้การส่งต่อเร็วขึ้น ทั้งนี้ มูลนิธิฯ ถือเป็นระบบสาธารณสุขระบบรองอย่างมาก โดยเราพยายามเชื่อมโยงกับระบบหลัก ดังนั้น ที่ระบบหลักมีนโยบาย คำสั่งใหม่ออกมา ก็จะมีการปรับเปลี่ยนระบบให้สอดคล้องกัน อย่างด้วยโอมิครอนที่อาการไม่รุนแรง ประกอบกับนโยบายที่จะทำให้เป็นโรคประจำถิ่น ดังนั้น ก็จะต้องมีการปรับให้ระบบพร้อมช่วยเหลือประชาชน โดยเน้นการกระจายอุปกรณ์ให้ผู้ติดเชื้ออย่างรวดเร็ว

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1122 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน