มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1382 ครั้ง
จากกรณีที่มีข้อมูลเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ประเด็น การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มากเกินไป อาจส่งผลเสียให้เกิดภาวะวัคซีนเข้าข้างไวรัส ที่อาจจะส่งผลทำให้เกิดอาการรุนแรงที่มากขึ้นกรณีที่ติดเชื้อโควิด ซึ่งทำให้ประชาชนเกิดความสับสนว่า การฉีดวัคซีนยังมีความจำเป็นหรือไม่ หรือควรรอวัคซีนในรุ่นใหม่ต่อไป
ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 เมษายน ในรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ โดยมี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมพูดคุยให้ข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์ ว่า สำหรับข้อมูลที่เผยแพร่ออกไป เป็นการสื่อสารที่ไม่ครบถ้วน โดยข้อเท็จจริงของเนื้อหามีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ประการที่ 1 เราทราบดีว่าภูมิคุ้มกันที่ได้จากการฉีดวัคซีนหรือหลังหายติดเชื้อ ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ โดยมีข้อมูลทั่วโลกยืนยันตรงกัน ประการที่ 2 ต่างฝ่ายเห็นตรงกันว่าการระบาดโอมิครอน ที่วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ แต่ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ และ ประการที่ 3 การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ยังมีความจำเป็น ทั้งนี้ การสื่อสารข้อมูลดังกล่าว ชี้แจงในกลุ่มผู้ที่มีความกลัวโควิด-19 มากจนอยากฉีดวัคซีนเข็มที่ 5 6 หรือ 7 เพื่อกระตุ้นไม่ให้ภูมิฯ ตก ตรงนี้จึงเป็นการฉีดวัคซีนโดยไม่จำเป็น ประกอบกับ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น แนะนำว่าให้ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง เพื่อลดโอกาสเกิดอาการไม่พึ่งประสงค์หลังฉีด
“การกระตุ้นวัคซีนเข็ม 3 หมายความว่าเราเริ่มต้นด้วย วัคซีนไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา 2 เข็ม ยังจำเป็นต้องฉีดเข็มที่ 3 ขณะเดียวกันการฉีดด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ไม่ควรตามด้วยแอสตร้าฯ แต่ควรฉีดด้วย mRNA เป็นเข็มที่ 3 ตรงกับข้อมูลขององค์กรแพทย์ยุโรปแนะนำ แต่สำหรับไทยที่มีการฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม สิ่งที่เราจะสื่อสารคือ กรณีนี้ควรได้รับอีก 2 เข็ม คือ ไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา รวมเป็น 4 เข็ม ฉะนั้น ระดับที่เหมาะสมคือ 3-4 เข็ม” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเด็นที่ระบุถึงภูมิคุ้มกันที่อาจจะไม่เป็นมิตรกับภูมิฯ ตามธรรมชาติหรือจากวัคซีน ทั้งนี้อธิบายถึงกรณีหากไปพบกับเชื้อโควิดใหม่ที่อาจผันแปรรหัสพันธุกรรม ทำให้ภูมิฯ ไม่สามารถทำลายได้ ขณะเดียวกันก็อาจมีผลกระทบในทางลบ ซึ่งตั้งแต่ปี ค.ศ.2020 – 2022 มีตัวเลขข้อมูลภูมิฯ ที่เป็นลบทยอยรายงานออกมาเรื่อยๆ โดยยังเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยากที่ต้องจับตามองใกล้ชิด เนื่องจากมีการพบกลไกดังกล่าวในไวรัสหลายตัว โดยเฉพาะตระกูลโคโรน่า อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ได้พัฒนาวิธีตรวจหาภูมิฯ ดีและไม่ดี เพื่อหาผลกระทบว่าจะเกิดการอักเสบอย่างรุนแรงหรือไม่ ขณะเดียวกัน สามารถทดสอบโปรตีนไม่ดีที่ทำให้เกิดสมองเสื่อมหลังติดเชื้อโควิดด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและตรวจในคนไทยอยู่ ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนในเข็มที่ 3 หรือ 4 แล้วก็อาจประวิงเวลา เพื่อรอให้มีวัคซีนรุ่นใหม่ ที่สามารถต่อต้านการติดเชื้อ รวมถึงลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า สำหรับข้อมูลชัดเจนคือ การฉีดวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ ส่วนการฉีด 2 เข็มลดความรุนแรงของโรคชัดเจน ขณะที่เข็ม 3 ก็ยังลดได้เช่นกัน แต่ภูมิฯ อาจจะลดลงบ้างเนื่องจากเป็นสายพันธุ์โอมิครอนที่กลายพันธุ์มาจากสายพันธุ์อู่ฮั่น อย่างไรก็ตาม หากการฉีดเข็มกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาก็จะช่วยให้ภูมิฯ ขึ้นสูงขึ้นได้ ฉะนั้น วัคซีนเข็ม 3 และ 4 ยังมีความจำเป็น แต่สำหรับเข็ม 5 เป็นต้นไป ถือว่ายังถี่เกินไป อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเข็มล่าสุดจะช่วงสร้างภูมิฯ ในระดับ 3 เดือน และจะลดลงในช่วง 4 เดือนหลังจากนั้น
อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.ธนา ขอเจริญพร ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีน เทียบได้กับการเดินทางสายกลาง คือ มีความเหมาะสม มีประสิทธิภาพ หากการฉีดมากเกินไปก็ย่อมเกิดโทษได้ เนื่องจากวัคซีนก็คือยาอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะวัคซีนโควิดที่เพิ่งผลิตมาใช้ได้เพียง 2 ปีก็อาจจะมีโทษที่เรายังไม่ทราบได้ เช่น ผลข้างเคียงระยะยาว ฉะนั้น ควรจะเลือกใช้ให้พอเหมาะกับประโยชน์ที่จะได้
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1382 ครั้ง