มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1540 ครั้ง
แพทย์ ชี้ นับถอยหลังทำโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ต้องดูแลกลุ่มสูงวัยเข้าถึงหมอเร็ว วัคซีนครอบคลุม 70% พร้อมเปิดแผน 4 ระยะ
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในรายการ Covid Forum ที่นี่มีคำตอบ จัดโดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ ถึงประเด็น “นับถอยหลังโควิด สู่โรคประจำถิ่นอย่างปลอดภัย” ว่า สิ่งที่เราต้องคุยกันถึงสาเหตุที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พยายามเดินหน้าให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น(Endemic) แต่เราต้องคำนึง 3 สิ่งที่หากดึงไปส่วนใดมากเกินก็จะเสียสมดุล คือ แพทย์และสาธาณสุข เศรษฐกิจ และสังคม-สุขภาพจิต ช่วงแรกที่ล็อกดาวน์ (lockdown) เราให้สาธารณสุขเป็นใหญ่ แต่ตอนนี้ต้องคำนึงถึงสุขภาพจิตของคนไปจนถึงเศรษฐกิจ ทำให้หลายประเทศ รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) สนับสนุนว่าในที่สุดจะต้องเป็นโรคประจำถิ่น โดยให้คำจำกัดความสั้นๆ ว่า สามารถลดระดับได้แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบสาธารณสุขแต่ละประเทศ เตียงไม่ล้น และเน้นย้ำว่าต้องเข้าถึงวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็ม ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มอย่างน้อย 70% และยาต้านไวรัส ติดแล้วต้องรักษาทันท่วงที
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า ธรรมชาติของไวรัสโคโรน่า2019 สายพันธุ์ที่ระบาดได้รวดเร็วกว่าก็จะเป็นตัวกลายพันธุ์มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา เบต้า อัลฟ่า เดลต้าสูญพันธุ์ไปแล้ว ตอนนี้เป็นโอมิครอนที่มีลูกผสมกับสายพันธุ์อื่น เรียกว่าตระกูล “X” ซึ่งโอมิครอนที่องค์การอนามัยโลกจับตามองคือ BA.4 ที่มีการกลายพันธุ์ต่างจากอู่ฮั่นประมาณ 80 ตำแหน่ง ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่มี . (จุด) อาการทางคลินิกไม่ต่างจากโอมิครอน วัคซีนยังได้ผล แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มเห็นความต่าง ก็จะมีการตั้งชื่อเป็นสายพันธุ์ใหม่ ทั้งนี้ WHO คาดฉากทัศน์การกลายพันธุ์ของโควิด 2 รูปแบบ คือ 1. ไวรัสไม่มีการกลายพันธุ์ ค่อยๆ หายไป 2. กลายพันธุ์แล้วอาการรุนแรง จำเป็นต้องพัฒนายาและวัคซีนต่อไป
นพ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ กล่าวว่า สำหรับการดูแลผู้สูงอายุเพื่อนับถอยหลังเข้าสู่โรคประจำถิ่น สิ่งสำคัญคือต้องมีเตียงรองรับผู้สูงอายุเพียงพอ ระบบสาธารณสุขจึงเป็นคีย์สำคัญเพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงได้รับการดูแลทันที ตนมองว่าหากอัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 0.1-0.2% น่าจะสามารถรองรับได้ แต่ปัจจัยหลักของการสูญเสียในกลุ่มสูงอายุคือ เพิ่งทราบว่าติดเชื้อแล้วรักษาไม่ทัน ดังนั้น หากทาง สธ.มีช่องทางพิเศษในกลุ่มนี้ก็จะลดความสูญเสียได้
“การเป็นโรคประจำถิ่น เราจะดูเกณฑ์การเสียชีวิตมากกว่าการติดเชื้อ ดังนั้น หากมีการรักษา มียาใหม่ๆ เข้ามา ก็จะลดอัตราเสียชีวิตได้ เป็นจุดเปลี่ยนเกม ดังนั้น รัฐบาลต้องผลักดันให้มีการนำเข้ายาในราคาที่ถูก รวมถึงการแก้ไขปัญหาสิทธิบัตรเพื่อซื้อเคมีภัณฑ์ให้มีการผลิตได้ในประเทศ” นพ.ฆนัท กล่าว
ด้าน นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านเวชศาสตร์ป้องกัน) กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการทำโควิดเป็นโรคประจำถิ่น เมื่อปลายเดือน ก.พ. มีการทำแผน 4 ระยะเพื่อกำหนดมาตรการ 4 อย่างที่เข้มข้นต่างกัน เรียกว่า 4×4 คือ 1. ระยะ Combatting (มี.ค.) การลดอัตราติดเชื้อ 2. ระยะ Plateau (เม.ย.-พ.ค.) เริ่มอยู่ขาลง 3. ระยะ Declining (พ.ค.-มิ.ย.) สถานการณ์ขาลงจริงๆ และ 4. ระยะ Post Pandemic (1 ก.ค. เป็นต้นไป) ขณะที่ มาตรการ 4 อย่าง ได้แก่ ระบบสาธารณสุข การแพทย์ กฎหมาย และ การสื่อสาร ทั้งที่ มาตรการสำคัญคือวัคซีนโควิด เน้นคัดกรอง และการอนุญาตให้มีการเดินทางเข้าประเทศ เพื่อให้เราก้าวไปสู่โรคประจำถิ่น (Endemic) ในช่วงเดือน ก.ค. แต่สิ่งที่จะเป็นตัวกำหนดสำคัญคือ การติดเชื้อและเสียชีวิตไม่มากนัก หรือมีการกลายพันธุ์ที่อาการทางคลินิกน้อยลงกว่าเดิม ความสูญเสียเท่าๆ กับโรคประจำถิ่นอื่น เช่น โรคไข้เลือดออก
“สถานการณ์โควิดปัจจุบันแนวโน้มทั่วโลกลดลง แต่เอเชียรวมถึงไทยยังสูงอยู่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนเรียนรู้ในการดูแลตัวเอง ตรวจ ATK หากมีอาการน้อยก็รักษาที่บ้าน(HI) มีอาการมากก็เข้าสถานพยาบาล ทั้งนี้การติดเชื้อที่พบหลัก 2 หมื่นราย เราจะรู้ว่าตัวเลขน้อยกว่าความเป็นจริง แต่ที่เรากังวลคือการใช้เตียง โดยเฉพาะกลุ่มปอดอักเสบที่มีโอกาสเสียชีวิต โดยข้อมูล 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า 95% ไม่ได้รับวัคซีนหรือไม่ได้เข็มกระตุ้น รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ด้วย” นพ.อนุพงศ์กล่าว
นพ.อนุพงศ์ กล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดและโรคประจำถิ่น จะต้องเล่าว่าเดิมโควิดถูกบรรจุเป็นโรคติดต่ออันตรายตาม พรบ.โรคติดต่อ ดังนั้น จะต้องมีการแก้กฎหมายให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งสถานะทางกฎหมายจะลดลงตามลำดับ จึงต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้บังคับใช้กฎหมาย เพราะคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร หรือ ศบค. ก็จะไม่มีอำนาจแล้ว แต่จะต้องมีการดูแลในรูปแบบโรคติดต่อ มีการติดตามสอบสวนโรคในคลัสเตอร์ใหญ่ มีการรายงาน เฝ้าระวังโดยสถานพยาบาล ฉะนั้น เราจะต้องเรียนรู้อยู่กับโรค การ์ดต้องไม่ตก เพื่อให้เราค่อยๆ ขยับมาตรการออกไป
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารรายการ Covid Forum ในทุกสัปดาห์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมตอบทุกประเด็นข้อสงสัย เพื่อให้ทุกท่านดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1540 ครั้ง