มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 731 ครั้ง
นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ ระบุว่า เนื้อแดงเป็นแหล่งของโปรตีนที่สำคัญ อุดมด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ผู้บริโภครับประทานเนื้อแดงได้อย่างเหมาะสม ให้มีความหลากลาย หมดกังวลเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อร่างกาย และเพื่อความปลอดภัยควรเลือกซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เก็บอย่างถูกวิธี ปรุงสุกทุกครั้งก่อนรับประทาน
![](https://www.siamhotlinenews.com/wp-content/uploads/2022/06/1654135324034.jpg)
ผศ.ดร.รุจริน ลิ้มศุภวานิช หน่วยปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเนื้อสัตว์ ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า อาหาร นับเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิต การเลือกรับประทานอาหารปลอดภัยจึงเป็นเรื่องหลักที่ผู้บริโภคยุคใหม่หันมาใส่ใจมากขึ้น แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่สร้างความกังวลใจให้กับผู้บริโภค เช่น เรื่องการรับประทานเนื้อแดงให้ปลอดภัย ไม่เสี่ยงมะเร็ง
![](https://www.siamhotlinenews.com/wp-content/uploads/2022/06/1654135326130.jpg)
เนื้อแดง ประกอบด้วย เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อแพะ และเนื้อหมูซึ่งมีสีอ่อนที่สุดใกล้เคียงกับเนื้อไก่ บางประเทศจึงอาจเรียกเนื้อหมูว่าเนื้อสีขาวเหมือนเนื้อไก่ สีแดงในเนื้อสัตว์เกิดจากเม็ดสีที่ชื่อ “ไมโอโกลบิน” ทำหน้าที่กักเก็บออกซิเจนไว้ใช้ในกล้ามเนื้อ โดยจับกับธาตุเหล็กที่ติดกับ “ฮีม” เนื้อที่มีสีแดงเข้มจึงมีธาตุเหล็กชนิดมีฮีมอยู่มาก ซึ่งร่างกายจะดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าธาตุเหล็กชนิดไม่มีฮีมที่พบมากในพืช และช่วยให้ธาตุเหล็กในพืชถูกดูดซึมไปใช้ได้ดีขึ้น เนื้อสัตว์เป็นแหล่งโปรตีนสูง มีกรดอะมิโน และกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุสำคัญอาทิ B12 B6 B3 B1 เหล็ก สังกะสี และซีลีเนียม
![](https://www.siamhotlinenews.com/wp-content/uploads/2022/06/1654135328205.jpg)
การที่องค์กร IARC (International Agency for Research on Cancer) หน่วยงานภายใต้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) หรือ WHO ได้มีการจัดกลุ่มสิ่งที่ “มีความสัมพันธ์” ต่อการเกิดโรคมะเร็ง หนึ่งในนั้นคือเนื้อแดงที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม 2A คือ “อาจจะ” ก่อให้เกิดมะเร็ง เนื่องจากมีรายงานในสัตว์ทดลองว่าธาตุเหล็กชนิดมีฮีม อาจจะทำปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) กับไขมัน เกิดอนุมูลอิสระ กระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์ที่เยื่อบุลำไส้ผิดปกตินำไปสู่การเกิดมะเร็งลำไส้ได้ แต่ยังไม่มีข้อมูลทางระบาดวิทยาอย่างเพียงพอที่จะบ่งชี้ชัดเจนว่ามีความสัมพันธ์ต่อการทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ และไม่ได้บ่งบอกถึงระดับ “ความเสี่ยง” ของแต่ละสิ่งที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
![](https://www.siamhotlinenews.com/wp-content/uploads/2022/06/1654135330177.jpg)
โดยการจัดกลุ่มขององค์กร IARC เป็นการสร้างความตระหนัก ซึ่งรายงานวิจัยที่ใช้พิจารณาจัดกลุ่มส่วนใหญ่เป็นการเก็บข้อมูลในประเทศทางตะวันตก รวมถึงประเทศจีน หากเทียบปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์จะเห็นภาพชัดว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้มีการบริโภคเนื้อสัตว์มากกว่าคนไทยหลายเท่า ชาวตะวันตกบริโภคเนื้อสัตว์ประมาณ 70 กิโลกรัม หรือมากสุดอาจจะถึง 100 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่รับประทานเนื้อหมูกับเนื้อไก่มากที่สุด ประมาณ 16-17 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งน้อยกว่ามาก นอกจากนั้น อาหารไทยมักปรุงร่วมกับผัก เครื่องเทศ หรือสมุนไพรซึ่งส่วนใหญ่มีสารต้านอนุมูลอิสระและให้กากใย แต่อีกประเด็นสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือลักษณะการปรุงอาหารแบบปิ้งย่างจนเกรียม ที่มีน้ำมันหยดลงบนเตาซ้ำๆ จนไหม้ เป็นควัน หรือทอดด้วยความร้อนสูงด้วยน้ำมันที่ใช้ซ้ำ เนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการระบุว่ามีส่วนก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง และถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 2A เช่นกัน แต่ระดับความเสี่ยงอาจจะแตกต่างกัน ดังนั้น ผู้บริโภคที่รับประทานอาหารปิ้งย่างบ่อยครั้งจึงควรระมัดระวังในประเด็นนี้ด้วย
สำหรับการบริโภคเนื้อแดงอย่างปลอดภัย ในผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ มีคำแนะนำว่าควรรับประทานไม่เกิน 500 กรัมต่อสัปดาห์ และเลือกโปรตีนจากแหล่งอื่นๆร่วมด้วย เช่น เนื้อไก่ ไข่ เนื้อปลา เป็นต้น รับประทานอาหารหลากหลาย ไม่จำเจ ขณะที่ กรมอนามัยได้แนะนำสัดส่วนของอาหารใน 1 มื้อ โดยเลือกรับประทานผักผลไม้ 2 ส่วน เนื้อสัตว์ 1 ส่วน แป้ง 1 ส่วน นอกจากนี้ ต้องเลือกซื้อเนื้อสัตว์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เก็บให้เย็น ปรุงสุกทุกครั้งก่อนรับประทาน เพื่อลดเสี่ยงเชื้อก่อโรคที่อาจเป็นอันตราย บริโภคแต่พอดี และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 731 ครั้ง