ศาลเยาวชนฯ จับมือ สอศ. ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1472 ครั้ง

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการของศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักร

วันนี้ (5 ก.ค.65) นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ช่วยทำงานในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักร ระหว่างศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ​โดยมี นายปริญญา เชาวลิตถวิล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และ นายราตรีสวัสดิ์ ธนานันต์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ ร่วมลงนามสักขีพยาน และ นางสาวศิริรัตน์ น้อมนำทรัพย์ เลขานุการศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พร้อมคณะผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนฯ นำโดย ดร.นิลุบล ลิ่มพงศ์พันธุ์ ร่วมในพิธี ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 สอศ.

นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ช่วยทำงานในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่า เนื่องด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวมีเจตนารมณ์มุ่งเน้นการแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็ก เยาวชนและครอบครัว และตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาและอาชีพ โดยเชื่อว่าเมื่อเด็กและเยาวชนมีการศึกษาที่ดี มีอาชีพที่ดี จะสามารถลดการกระทำผิดซ้ำได้ และพบว่าเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการของศาลเยาวชนและครอบครัว ภายหลังกระทำผิดอาญามักจะหลุดลอยจากระบบการศึกษาหรือมรปัญหาในการกลับเข้าเรียนหลายประการ เช่น โตเกินวัย หรือบ้านมีฐานะยากจน หรือหากจะกลับเข้าเรียนต้องกลับไปเริ่มสมัครเรียนใหม่ ดังนั้น เพื่อเป็นการให้เด็กและเยาวชนได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาภาคบังคับและขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนได้เลือกเรียนตามความสนใจ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ได้ทำ MOU กับหน่วยงานในกระบวนการศึกษาหลายแห่ง เช่น กรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้เด็กและเยาวชนเรียนจบการศึกษาภาคบังคับ และได้ทำ MOU กับวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสศึกษาต่อทางด้านสายอาชีพ แต่ไม่สามารถรองรับความต้องการของเยาวชนได้ เพราะไม่มีความหลากหลาย จึงได้มีการทำ MOU กับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา

“สำหรับการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางและ สอศ. มีเจตนาร่วมกันที่จะให้โอกาสเยาวชนของศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วประเทศได้เข้าเรียนสถานศึกษา ในสังกัด สอศ. โดยไม่ต้องทดสอบความรู้ เลือกเรียนในสถานศึกษาเดิม หรือเปลี่ยนสถานศึกษาใหม่ และเทียบโอนผลการเรียน หรือเข้าเรียนในโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ เป็นการเพิ่มทางเลือกทางการศึกษาให้แก่เยาวชน เมื่อมีการศึกษาก็จะทำให้เยาวชนมีอนาคตที่ดีและกลับตนเป็นพลเมืองดีของชาติต่อไป ไม่หวนกลับมากระทำผิดซ้ำ” นายประกอบ กล่าว

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ความสำคัญต่อการสร้างโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาที่ให้ความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาเพื่อพัฒนาคนและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังโครงการส่งเสริมโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” เพื่อการแก้ปัญหาเชิงรุกสำหรับเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา คืนโอกาส สร้างอนาคตให้เด็ก และแก้ปัญหาระยะยาวให้ประเทศ

ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญในการสร้าง และขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลเยาวชน และครอบครัว ให้เข้าสู่ระบบการศึกษา ให้ได้รับการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถด้านวิชาชีพ สามารถรับผิดชอบดูแลตนเองได้ และจบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ พร้อมเป็นกำลังคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน  โดยเด็กและเยาวชนที่ได้รับการพัฒนาทักษะความรู้ ด้านวิชาชีพ จะสามารถพึ่งพาตนเองได้และเป็นกำลังคนอาชีวศึกษาที่มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2565 มีเยาวชนจำนวน 24 รายจากทั่วประเทศที่ประสงค์เข้ารับการศึกษาภายใต้โครงการ อาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ และในแผนการเรียนปกติ ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1472 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน