มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 724 ครั้ง
“อลงกรณ์” ขับเคลื่อนนวัตกรรมการบริหารจัดการชลประทานเชิงรุก 2 รูปแบบ ภายใต้เพชรบุรีโมเดล รวมพลังทีมชลประทานผนึก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ระดมเครื่องจักรกลเครื่องสูบน้ำเตรียมรับมืออุทกภัยเพชรบุรีล่วงหน้า พร้อมเดินหน้าโครงการชลประทานชุมชนบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืนครบ 93 ตำบล 8 อำเภอของเพชรบุรีเป็นจังหวัดแรก
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ประกอบด้วย นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสราวุฒิ พุ่มจิตร นายปรีชา ทรัพย์เกิด คณะทำงานทีมเพชรบุรีโมเดล ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมของเครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำ เครื่องดันน้ำ รถ เรือ เครื่องปั่นไฟและกำลังพลคนชลประทานและท้องที่ท้องถิ่นเพื่อพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยเพชรบุรี ปี 2565 ซึ่งได้เคลื่อนย้ายมารวมศูนย์ที่บริเวณพื้นที่วัดเขาตะเครา โดยมี นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี นายอำนาจ ถี่ถ้วน ผู้อำนวยการส่วนเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 14 นายวศิน เกิดบุญ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการเครื่องจักรกลสูบน้ำที่ 3 นายจักรพันธุ อุไรพันธุ์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการเครื่องจักรกลและยานพาหนะ นายวีระชัย ตั่นเจริญ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมเครื่องกล สิบเอก ธนกร บุญวิเศษ หัวหน้าฝ่ายซ่อมสร้างและบำรุงรักษา นายชาญชัย อุ้มนุช นายก อบต.บางครก นางบุษกร เอี่ยมเทศ รองนายก อบต. บางครก นายลม่อม เล็กสุก กำนันตำบลบางครก และเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับและรายงานผลการดำเนินการ ณ บริเวณวัดเขาตะเครา ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และเริ่มดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ณ จุดมัสยิดหมู่ 13 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอเมืองริมแม่น้ำเพชรบุรีเป็นจุดแรก
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ตามข้อเสนอและการประสานงานของ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเฝ้าระวังและจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมให้สามารถพร้อมใช้งานได้ทันที
นายอลงกรณ์ กล่าวขอบคุณ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ กรมชลประทาน และให้กำลังใจทุกภาคีภาคส่วนในการสร้างความพร้อมล่วงหน้าเพื่อรับมือกับอุทกภัยในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งปกติจะมีความเสี่ยงจากมรสุมในช่วงเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน โดยดำเนินการมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ด้วยการลอกคลองผักตบชวาและวัชพืชที่เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำออกจากคลองสายหลักต่างๆ ในพื้นที่ปลายน้ำและกลางน้ำของอำเภอบ้านแหลม อำเภอเมือง อำเภอบ้านลาด และอำเภอท่ายาง เช่นคลอง ดี.25 และคลอง ดี.18 เป็นต้น โดยใช้เครื่องจักรกลรถแม็คโครขนาดใหญ่ของสำนักงานชลประทานที่ 14 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี และชลประทานจังหวัดเพชรบุรี สำหรับในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ทางชลประทานพร้อมนำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งทันที ยกเว้นระบบท่อ เพื่อไม่ให้ไปกีดขวางถนน ทั้งนี้ ได้มอบหมายชลประทานจังหวัด ประสานงานกับจังหวัด และเทศบาลเมืองเพชรบุรีอย่างใกล้ชิด โดยระหว่างนี้ทางเทศบาลแจ้งว่ากำลังทดสอบการจราจรในพื้นที่เทศบาลและจะแจ้งให้ทราบเมื่อมีความพร้อมในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำของกรมชลประทาน
“2 ปีที่ผ่านมา เพชรบุรีสามารถบริหารจัดการรับมือกับปัญหาอุทกภัยได้เป็นอย่างดี ไม่มีน้ำท่วมใหญ่ จะมีก็น้ำล้นตลิ่งหรือน้ำท่วมบางพื้นที่ที่ตลิ่งพังแต่เป็นพื้นที่จำกัด ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการมิติใหม่ร่วมกับจังหวัดและท้องที่ท้องถิ่นแบบบูรณาการทำงานเชิงรุกล่วงหน้าพร้อมกับเร่งดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานอีกกว่า 53 ล้าน ลบ.ม. การพัฒนาคลอง ดี.9 สามารถรับน้ำได้ 100 ลบ.ม. ต่อวินาที เป็นต้น ยิ่งกว่านี้ยังได้เริ่มดำเนินการโครงการชลประทานชุมชนของคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบลครบ 93 ตำบล 8 อำเภอ มีหน้าที่จัดทำแผนและขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทุกหมู่บ้านตำบล เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมด้วยแนวทางบริหารโดยชุมชนเพื่อชุมชนของชุมชนเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการชลประทานเชิงรุกพร้อมกัน 2 รูปแบบ คือ การบริหารจัดการอุทกภัยประจำปีล่วงหน้าแบบเฉพาะกิจกับการบริหารจัดการระบบน้ำและชลประทานแบบยั่งยืนด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วน ภายใต้เพชรบุรีโมเดลเป็นจังหวัดแรก” นายอลงกรณ์ กล่าวในที่สุด
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 724 ครั้ง