ผบ.ทร. ตรวจเยี่ยมการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 786 ครั้ง

ผู้บัญชาการทหารเรือ ตรวจเยี่ยมการฝึกและสังเกตการณ์การฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และบรรเทาภัยพิบัติ (HA/DR) ในการฝึกภาคสนามและภาคทะเล (FTX) การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2566

          พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์การฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (HA/DR) ในการฝึกภาคสนาม และภาคทะเล (FTX) การฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2566 บน เรือหลวงอ่างทอง และ บริเวณเกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต

          เวลา 12.40 น. ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เดินทางมาถึงเรือหลวงอ่างทอง โดยมี พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะประธานการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2566 ให้การต้อนรับ จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เข้ารับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์ฝึกฯ รวมทั้งได้ตรวจเยี่ยมศูนย์บัญชาการในทะเล และโรงพยาบาลสนามบนเรือ ณ ห้องควบคุมปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก ต่อมาในเวลา 13.50 น. ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ชมการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (HA/DR) และการฝึกค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลร่วมกับหน่วยงานใน ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จากนั้นในเวลา 14.30 น. ผู้บัญชาการทหารเรือได้เดินทางต่อไปยังเกาะราชาใหญ่ เพื่อตรวจเยี่ยมการฝึกค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางบกและการส่งกลับผู้ป่วยด้วยอากาศยานส่งต่อทางการแพทย์

          อนึ่ง กองทัพเรือได้จัดให้มีการฝึกกองทัพเรือเป็นประจำทุกปี เพื่อให้กำลังพลจากกรมในส่วนบัญชาการส่วนกำลังรบ ส่วนยุทธบริการ ส่วนการศึกษาและวิจัย ได้บูรณาการการฝึกของหน่วยต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาขีดความสามารถให้มีความพร้อม ในการเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต อันจะทำให้กองทัพเรือสามารถดำรงบทบาทในฐานะหน่วยงานความมั่นคงและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการฝึกความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (HA/DR) เพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างขีดความสามารถกำลังพล และยุทโธปกรณ์ ทั้งนี้ต้องมีการฝึกภาคสนามและภาคทะเล (FTX) ควบคู่กับการฝึกดังกล่าว ซึ่งเป็นการฝึกภาคปฏิบัติของหน่วยกำลังรบ และหน่วยสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องการทดสอบขีดความสามารถในระดับยุทธวิธีมาทำการฝึกภาคปฏิบัติร่วมกัน

          นอกจากนี้กองทัพเรือได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดจากธรรมชาติที่นับวันมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว การป้องกันที่ดีที่สุดคือการซักซ้อมและเตรียมการรับมือในช่วงสภาวะปกติ ดังนั้น กองทัพเรือจึงได้จัดการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2566 ในเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันในห้วง วันที่ 4 – 6 มกราคม 2566 เพื่อเป็นการทดสอบ และซักซ้อมความเข้าใจในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันของกองทัพเรือและหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันและทำงานร่วมกันอย่างบูรณการ สำหรับการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ ดังนี้

1) เพื่อทดสอบการปฏิบัติตามร่างแผนบรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ พ.ศ.2566

2) เพื่อทดสอบแนวความคิดในการปฏิบัติของ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ และ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ทัพเรือภาคที่ 3 ตาม (ร่าง) แผนบรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ พ.ศ.2566

3) เพื่อทดสอบขีดความสามารถ ความพร้อม องค์บุคคล องค์วัตถุ องค์ยุทธวิธี ของหน่วยในกองทัพเรือ ในการปฏิบัติการบรรเทาภัยพิบัติ (การประเมินความต้องการและความเสียหาย การเคลื่อนย้ายกำลังการค้นหาและช่วยเหลือฯ การแพทย์ สารเคมีและปนเปื้อน)

4) เพื่อทดสอบการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานกองทัพเรือ ศรชล. และจังหวัด ในระดับการสั่งการและการปฏิบัติ ในการปฏิบัติการบรรเทาภัยพิบัติ โดยการฝึกครั้งนี้ได้มีการสมมุติสถานการณ์การเกิดพายุขนาดใหญ่ขึ้นในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ทำให้เกิดการตัดขาดระหว่างฝั่งและเกาะต่าง ๆ ของจังหวัดภูเก็ต และก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะในพื้นที่ของเกาะราชาใหญ่

          ดังนั้น จังหวัดภูเก็ตจึงได้ร้องขอให้ ทัพเรือภาคที่ 3 เข้าช่วยแก้ไข และบรรเทาสถานการณ์ โดยทัพเรือภาคที่ 3 ได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจในการเข้าแก้ไขปัญหา และได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีหน่วยที่เข้ารับการทดสอบและการฝึก ดังนี้

          1) ทัพเรือภาคที่ 3 จัดเรือจำนวน 3 ลำ เฮลิคอปเตอร์ จำนวน 1 เครื่อง 2) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 จัดเรือตรวจการณ์ จำนวน 5 ลำ 3) กองเรือยกพลขึ้นบก และยุทธบริการ 4) กองเรือยุทธการ จัดเรือหลวงอ่างทอง หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง จัดกำลังพล 94 นาย 5) กรมแพทย์ทหารเรือ และโรงพยาบาลฐานทัพเรือพังงา ทัพเรือภาคที่ 3 จัดกำลังพล 17 นาย 6) กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ จัดกำลังพล 13 นาย 7) กรมอุทกศาสตร์ จัดกำลังพล จำนวน 5 นาย 8) สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทางทหารกองทัพเรือ จัดกำลังพล จำนวน 4 นาย 9) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 1 เครื่อง 10) ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต จัดกำลังพล จำนวน 12 นาย 11) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต จัดกำลังพล จำนวน 6 นาย 12) มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต จัดกำลังพล จำนวน 6 นาย 13) สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จัดกำลังจำนวน 17 นาย รวมกำลังพลที่ใช้ในการฝึกครั้งนี้ทั้งสิ้น 439 นาย

          การฝึกในครั้งเป็นไปตามนโยบายของ ผู้บัญชาการทหารเรือที่ให้หน่วยต่างๆ เตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ให้พร้อม และสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที เมื่อเกิดเหตุการณ์เป็นกองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 786 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน