นอนคุก! 6 ตำรวจห้วยขวาง ศาลไม่ให้ประกัน อัตราโทษสูง-เกรงหลบหนี

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 564 ครั้ง

วันนี้ (2 ก.พ.66) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คณะพนักงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 และพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง นำเจ้าพนักงานตำรวจสถานตำรวจนครบาลห้วยขวาง จำนวน 6 นาย ส่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อขอให้ศาลออกหมายขังและฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ตามคำร้องลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ระบุว่า วันที่ 5 มกราคม 2566 เวลา 00.01 น. เจ้าพนักงานตำรวจทั้ง 6 นาย ที่ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่ตั้งด่านอยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษก หน้าสถานทูตจีนประจำประเทศไทย แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

จนกระทั่งเวลาประมาณ 02.27 น. มีนายเป จิง ซือ หรือ สกาย สัญชาติสิงคโปร์ กับพวกรวม 4 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน โดยสารรถยนต์ยี่ห้อมาสด้าสีแดง คันหมายเลขทะเบียน 4 กส 522 กรุงเทพมหานคร มาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งผู้ต้องหากับพวกตั้งด่านอยู่ มีสิบตำรวจเอก ล. ผู้ต้องหาที่ 5 เป็นผู้คัดรถยนต์เข้ามาให้สิบตำรวจเอก ว. ผู้ต้องหาที่ 6 ตรวจค้นบุคคลในรถ ผู้ต้องหาทั้ง 6 เชิญนายเป จิง ซือ ลงจากรถเพื่อค้นตัว สิบตำรวจเอก น. ผู้ต้องหาที่ 3  เป็นผู้ค้นตัว ส่วนเพื่อนของนายเป จิง ซือ อีก 2 คน ถูกกลุ่มผู้ต้องหาค้นตัว การตรวจค้นพบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 3 อัน สิบตำรวจเอก น. ผู้ต้องหาที่ 3 กับร้อยตำรวจเอก ป. ผู้ต้องหาที่ 2 พูดคุยสอบถาม เพื่อขอดูหนังสือเดินทางและวีซ่าจาก นายเป จิง ซือ กับพวก

ขณะนั้นนายเป จิง ซือ กับพวก ไม่ได้พกหนังสือเดินทางติดตัวมาด้วย มีเพียงภาพถ่ายหนังสือเดินทางในโทรศัพท์มือถือ สิบตำรวจเอก น. ผู้ต้องหาที่ 3 กับร้อยตำรวจเอก ป. ผู้ต้องหาที่ 2 พยายามพูดจาข่มขู่ นายเป จิง ซือ กับพวก ว่ากระทำความผิดโดยครอบครองบุหรี่ไฟฟ้ากับไม่พกหนังสือเดินทางพร้อมวีซ่า อ้างว่าจะพาไปสถานีตำรวจทั้งที่ไม่มีเจตนาที่จะพาไปจริงกลับข่มขู่ให้ นายเป จิง ซือ กับพวก เกิดความกลัว จนกระทั่งสิบตำรวจเอก น. ผู้ต้องหาที่ 3 กับร้อยตำรวจเอก ป. ผู้ต้องหาที่ 2 ปรึกษาและตกลงกันเรียกเงินจากนายเป จิง ซือ กับพวก เป็นเงิน 27,000. บาท แบ่งเป็นค่าที่พกบุหรี่ไฟฟ้าอันละ 8,000 บาท ทั้งหมด 3 อัน และค่าไม่พกหนังสือเดินทางอีก 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 27,000 บาท

นายเป จิง ซือ ยืนยันว่า ตนกับพวกไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพราะบุหรี่ไฟฟ้าที่ตนกับพวกซื้อจากร้านที่วางขายของย่านห้วยขวางไม่ผิดกฎหมาย แต่ด้วยความกลัวและเกรงว่าจะเสียเวลานายเป จิง ซือ และนางสาวซาลีน หรือ อันยู๋ชิง ชาวไต้หวันจะเดินทางกลับต่างประเทศ ในคืนวันเกิดเหตุ จึงจำยอมจ่ายเงินจำนวน 27,000 บาท ให้กับสิบตำรวจเอก น. ผู้ต้องหาที่ 3 เป็นผู้รับเงินใส่ในกระเป๋าเสื้อนอกนายเป จิง ซือ กับพวก ถามสิบตำรวจเอก ป. ว่าตนกลับได้หรือไม่ สิบตำรวจเอก น. ผู้ต้องหาที่ 3 บอกว่า ต้องสอบถามร้อยตำรวจเอก ป. ผู้ต้องหาที่ 2 ก่อน ผู้ต้องหาที่ 3 และผู้ต้องหาที่ 2 เดินมายังนายเป จิง ซือ กับพวก พร้อมยื่นบุหรี่ไฟฟ้าที่ยึดไว้ในตอนแรกให้นายเป จิง ซือ กับพวก ถือไว้คนละอัน โดยร้อยตำรวจเอก ป. ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นผู้สั่งให้สิบตำรวจเอก น. ผู้ต้องหาที่ 3 ใช้ไฟฉายส่อง ขณะสิบตำรวจเอก น. ผู้ต้องหาที่ 3 ถ่ายรูปเพื่อให้แสงสว่างในการถ่าย จากนั้นร้อยตำรวจเอก ป. ผู้ต้องหาที่ 2 ขออนุญาตให้นายเป จิง ซือ กับพวก กลับไปได้ ภายหลังสิบตำรวจเอก น. ผู้ต้องหาที่ 3 นำเงิน 27,000 บาท ที่ได้รับจากนายเป จิง ซือ มอบให้กับร้อยตำรวจเอก ย. ผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดที่นั่งในรถที่จอดไว้บริเวณที่เกิดเหตุรับเงินจำนวนดังกล่าวแล้วนำไปแบ่งในกลุ่มผู้ต้องหาด้วยกัน

ผู้ต้องหาทั้ง 6 เข้าพบคณะพนักงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 คณะพนักงานสอบสวน แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหาทั้ง 6 ซึ่งปรากฎต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ว่ากระทำความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานร่วมกัน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นเจ้าพนักงานร่วมปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต พร้อมทั้งแจ้งสิทธิตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.30 น. เหตุเกิดบริเวณถนนรัชดาภิเษก หน้าสถานทูตจีนประจำประเทศไทย พนักงานสอบสวนขอฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 6 มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ถึง วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 และขอคัดค้านการขอปล่อยชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนีและยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีภายหลัง

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิจารณาคำร้องขอฝากขังแล้ว อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 6 ได้ มีกำหนด 12 วัน ส่วนที่ผู้ต้องหาทั้ง 6 ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว กรณีเป็นเรื่องร้ายแรง กระทบต่อภาพลักษณ์และกระบวนการยุติธรรมของประเทศโดยรวม อีกทั้งผู้ต้องหาเป็นเจ้าพนักงานตำรวจอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและกระบวนการในชั้นสอบสวน ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 564 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน