กยท. เปิดเวที หารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แลกเปลี่ยนแนวทางพัฒนายางทั้งระบบ มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรฯ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 256 ครั้ง

เมื่อวันที่ 13 ก.ค.66 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเวทีประชุมแนวทางการดำเนินงานพัฒนาราคายางแบบมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า ณ ห้องประชุมรัษฎา กยท. สำนักงานใหญ่ โดยมี นายศิริพันธุ์ ตรีไตรรัตนกูล กรรมการการยางแห่งประเทศไทย เป็นประธานในที่ประชุม พร้อมด้วย นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ผู้บริหาร กยท. และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ผู้แทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้แทนสมาคมฯ ผู้นำกลุ่มเกษตรกรภาคประชาสังคม และผู้กรีดยางรายย่อย โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนตาม พ.ร.บ. การยางแห่งประเทศไทย ร่วมกันระดมความคิดเห็นและหารือแนวทางการดำเนินงานด้านต่างๆ เพื่อพัฒนายางพาราทั้งระบบ

นายศิริพันธุ์ กล่าวว่า แนวทางในการพัฒนาราคายางพาราของ กยท. เน้นการส่งต่อองค์ความรู้แก่เกษตรกรฯ ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer, โครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในสวนยาง และการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตามกฎหมาย EUDR ของสหภาพยุโรป โดยบูรณาการโครงการต่างๆ ผ่านไปยัง กยท. เขต และ กยท. จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเสริมองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรฯ ในพื้นที่ได้รับทราบ และนำไปพัฒนาการทำสวนยางของตนเองต่อไป รวมถึงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมยางให้สามารถเชื่อมโยงทั้งห่วงโซ่อุปทานยางพารา

นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการเปิดเวทีให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมกันระดมความคิดเห็น แลกเปลี่ยน และนำเสนอเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาราคายางให้ดีขึ้น โดยที่ผ่านมา กยท. ได้ดำเนินการเพื่อพัฒนาเรื่องราคายางอยู่เสมอ ทั้งในเรื่องของแผนการดำเนินการตลาดส่งมอบจริง การกำหนดราคาซื้อขายยางที่ต้องใช้ราคาอ้างอิงของตลาด กยท. รวมถึงการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรฯ ทำสวนยางอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างรายได้เสริมนอกเหนือจากการขายยาง นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้รับคำแนะนำและข้อเสนออื่นๆ ที่ผู้ร่วมประชุมเสนอมา และพร้อมที่จะนำข้อเสนอเหล่านี้ไปพัฒนายางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา สร้างรายได้ที่มั่นคง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่เกษตรกรฯ ในที่สุด

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอความต้องการในเรื่อง การพัฒนาตลาดกลางยางพารา การพัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data การส่งเสริมการทำสวนยางอย่างยั่งยืน การสนับสนุนอาชีพเสริมแก่เกษตรกรชาวสวนยาง การส่งเสริมให้เกิดการทำสวนยางยั่งยืน แนวทางการพัฒนาอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง การจัดทำตลาดส่งมอบจริง และการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มมากขึ้นผ่านการคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยียางพารา

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 256 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน