“ราชทัณฑ์” หารือ ส.อ.ท. ยกระดับทักษะการทำงานผู้ต้องขัง แก้ปัญหากระทำผิดซ้ำ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 514 ครั้ง

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.66 นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วย นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายพัฒนา นายวิรุณ เจริญเกียรติวงศ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพฤตินิสัย นางสาววริศรา ศิริสุทธิเดชา เลขานุการกรม และนายสิริชัย เมืองมูลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมทักษะการทำงาน เดินทางเข้าปรึกษาหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อรับข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานร่วมกันที่จะให้โอกาสกับผู้ที่เคยกระทำผิดได้รับการแก้ไขปรับปรุงตนเอง สร้างงาน สร้างอาชีพ รวมถึงการให้โอกาสผู้พ้นโทษ

ซึ่งการประชุมหารือครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้แก่ นายอภิชิต ประสพรัตน์ นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ นางสาวพิมพ์นารา จิรานิธิศนนท์ นายสุชาติ จันทรานาคราช และดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ รองเลขาธิการ ดร.สมสิทธิ์ มูลสถาน ประธานกลุ่มเครื่องกลและโลหะการ นายธนทัต ชวาลดิฐ ประธานกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ นายปิง ซุน หวัง ประธานกลุ่มไม้อัดไม้บาง และนางริดา ศรีหล่มสัก ประธานกลุ่มหัตถกรรมสร้างสรรค์ พร้อมคณะผู้เชี่ยวชาญในงานอุตสาหกรรมต่างๆ ให้การต้อนรับ ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เขตสาธร กรุงเทพฯ

นายอายุตม์ กล่าวว่า การประชุมหารือระหว่างกรมราชทัณฑ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นการหารือในประเด็นต่างๆ ซึ่งได้แก่ เรื่องของผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมทักษะการทำงาน และปัญหาการกระทำผิดซ้ำ ส่งผลให้เกิดการเผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านสื่อต่างๆ มากมายในเชิงลบ รวมถึงแนวทางการสร้างมาตรฐานของสินค้าที่จะสามารถนำเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมได้ ซึ่งข้อดีของการทำงานของผู้ต้องขังที่ผู้ประกอบการให้ความเชื่อถือคือ ความมีระเบียบวินัย แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดอีกมาก เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าว เป็นเพียงการว่าจ้างจากผู้ประกอบการภายนอก จึงทำให้ผู้ต้องขังขาดการฝึกทักษะอาชีพอย่างแท้จริง หรือไม่สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพภายหลังพ้นโทษได้ ถึงแม้กรมราชทัณฑ์จะมีผลิตภัณฑ์อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถนำเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมได้

ในส่วนของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ให้คำแนะนำหลายประการ ได้แก่ ขอให้มีการวิเคราะห์ด้านการตลาด ระยะเวลา และจำนวนของผู้ต้องขังที่เหมาะสม เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้ลงทุนในระยะยาว ตลอดจนการวางแผนการลงทุนที่คุ้มค่า และสามารถให้ภาคอุตสาหกรรมได้เชื่อมต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้มีความทันสมัยเข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ของราชทัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ไม้ รูปแบบที่อาจไม่เหมาะกับคนในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเสนอแนะให้มีการสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้พ้นโทษในการรวมตัวกัน เพื่อผลิตสินค้าในรูปแบบของ OTOP GO INTER ร่วมกันสร้างงาน สร้างอาชีพ ไม่หันกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก โดยการประชุมดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมราชทัณฑ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่นำไปสู่การวางแผนและดำเนินการให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ (MOU) ในระยะยาวพร้อมที่จะขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นายอายุตม์ กล่าวปิดท้ายว่า ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์ ยังได้มีกำหนดเปิดเรือนจำอุตสาหกรรม (Prison industry) ประจำเขต 2 อย่างเป็นทาง เพื่อให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสฝึกทักษะด้านการทำงานกับสถานประกอบและภาคธุรกิจจริง เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับคืนสู่สังคมและสามารถต่อยอดเป็นอาชีพภายหลังพ้นโทษได้อย่างแท้จริง ในวันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม 2566 ณ เรือนจำชั่วคราวบ้านบึง สังกัดเรือนจำกลางชลบุรี นับเป็นการให้โอกาสกับผู้ที่เคยกระทำผิดให้ได้รับการแก้ไข พัฒนาปรับปรุงตนเอง เป็นการคืนคนดีสู่สังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 514 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน