ทร.จัดพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุเสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 746 ครั้ง

กองทัพเรือ จัดพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เนื่องในวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประจำปี 2566

วันนี้ (28 ธ.ค.66) พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เนื่องในวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประจำปี 2566 ณ กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยมี คณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และหัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้าร่วมในพิธี

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นพระปฐมกษัตริย์และกษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยกรุงธนบุรี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2277 พระองค์ทรงมีพื้นฐานเป็นสามัญชน กำเนิดในตระกูลแต้ พระนามเดิมว่า “สิน” ในปีพุทธศักราช 2308 – 2309 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง “พระยาตาก” ได้นำไพร่พลมาสมทบเพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยาระหว่างที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ และทำการต่อสู้จนเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งมากที่สุดคนหนึ่ง ต่อมาพระองค์ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร จนเมื่อ 4 มกราคม พุทธศักราช 2310 พระยาตากได้รวบรวมกำลังตีฝ่าวงล้อมของพม่า เพื่อที่จะกลับมากู้เอกราชต่อไป

จากหลักฐานตามพระราชพงศาวดาร พระยาตากได้รวบรวมกำลังทหารประมาณ 500 คน มุ่งไปทางฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออก ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้น ได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2310 พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ เจ้าเมืองใหญ่ ๆ พากันตั้งตัวเป็นใหญ่และควบคุมหัวเมืองใกล้เคียงไว้ในอำนาจ ซึ่งหลังจากพระยาตากยึดเมืองจันทบุรีสำเร็จก็ได้ประกาศตั้งตัวเป็นอิสระ และจัดตั้งกองทัพขึ้นที่นี่ โดยมีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก

หลังฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2310 พระยาตากได้ยกกองทัพเรือออกจากจันทบุรีล่องมา ตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ต่อสู้จนยึดกรุงธนบุรีคืนจากพม่าได้ จากนั้นได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2310
จนสามารถกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยได้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้เวลาเพียง 7 เดือนนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า หลังจากนั้นทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่แทนกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมจนไม่สามารถบูรณะให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้ เหตุผลที่พระองค์ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีนั้น สันนิษฐานว่าเนื่องจากเป็นเมืองขนาดเล็ก เหมาะสมกับกำลังไพร่พลที่พระองค์มีอยู่ในขณะนั้น อีกทั้งยังเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญอยู่ใกล้ทะเล สามารถควบคุมเส้นทางเดินเรือเข้าออก มีป้อมปราการเป็นชัยภูมิที่ดี รวมทั้งตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำ และสามารถเคลื่อนย้ายกำลังทางน้ำเพื่อหลบหลีกศัตรูออกสู่ทะเลได้สะดวก ทั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังหลวง (พระราชวังเดิมในปัจจุบัน) ขึ้นทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของป้อมวิไชยเยนทร์เดิม (ซึ่งภายหลังได้รับการเปลี่ยนชื่อ เป็นป้อมวิไชยประสิทธิ์) ต่อมาเมื่อ 28 ธันวาคม 2311 ได้ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จสวรรคต ในวันเสาร์ เดือน 5 แรม 9 ค่ำ จุลศักราช 1144 ปีขาล จัตวาศกก่อนเที่ยงวัน ตรงกับวันที่ 6 เมษายน 2325

จากการที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะได้ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวาย พระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”

สำหรับพระราชวังกรุงธนบุรี หรือ พระราชวังเดิมในปัจจุบัน ได้เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพเรือ ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ประทับและว่าราชการของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นับเป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในฝั่งธนบุรี และเป็นสถานที่เพียงไม่กี่แห่งที่แสดงถึงสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงธนบุรี โดยโบราณสถานสำคัญในพระราชวังเดิมประกอบด้วย ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตำหนักเก๋งคู่ ท้องพระโรง ตำหนักเก๋งสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ป้อมวิไชยประสิทธิ์

ในโอกาสวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชประจำปี 2566 มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม ได้เปิดพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ให้ประชาชนเข้าชมเป็นกรณีพิเศษตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมาโดยวันนี้ จะเปิดให้เข้าชมเป็นวันสุดท้าย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 746 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน