มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 334 ครั้ง
โลตัส จับมือ มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมปลูกป่าใน กิจกรรม “เยาวชนจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Next Gen New World” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 พร้อมร่วมส่งเสริมจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม สร้างนักอนุรักษ์ธรรมชาติที่ดี และเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจของโลตัสด้านความยั่งยืนภายใต้กลยุทธ์ “Vision 2030. Actions every day.” สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานกรรมการมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ณ อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี
ดร.อภิรักษ์ เดชวรสิทธิ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกลยุทธ์และสนับสนุนธุรกิจ โลตัส กล่าวว่า “โลตัส มุ่งดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบกลยุทธ์การพัฒนาที่ยั่งยืน “Vision 2030. Actions every day.” ที่มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนจากการดำเนินงานในทุก ๆ วัน ครอบคลุมมิติ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (หรือ ESG) โดย โลตัส ในฐานะองค์กรค้าปลีกชั้นนำของไทย เราตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืนของประเทศ และมีความยินดีที่ได้ร่วมกับมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และ ไลปอนเอฟ ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมด้วยเพื่อนพนักงานเข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่าผ่านโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Next Gen New World รวมถึงมอบถุงยังชีพ และอุปกรณ์กีฬาให้กับชุมชน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการปลูกป่านี้อีกด้วย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โลตัสได้เดินหน้าปลูกต้นไม้กับมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อย่างต่อเนื่องกว่า 10 ล้านต้น ซึ่งความร่วมมือในโครงการนี้ นอกจากจะช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยแล้ว ยังสอดคล้องกับกรอบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรอีกด้วย ทั้งนี้ เราเชื่อว่าการร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน จะช่วยขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป”
โลตัส นำหลักการการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาผสานในทุกมิติของการดำเนินงานในองค์กร เพื่อสร้างคุณค่าอย่างแท้จริงให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดย โลตัส มุ่งมั่นดำเนินงานตามหลักความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม คือ การเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2030 และองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 อีกทั้งยังคงผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่องต่อไป
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 334 ครั้ง