มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 228 ครั้ง
นายอรรถการ ตฤษณารังสี นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 ครั้งที่ 1/2567 ผู้เข้าร่วมประชุมนอกจากคณะกรรมการสภา ได้แก่ ผู้บริหารสถาบันฯ และผู้บริหารวิทยาลัยในสังกัดสถาบัน และก่อนเริ่มประชุมคณะกรรมการสภาฯ ผู้อำนวยการสถาบัน นายสมศักดิ์ บุญโพธิ์ ได้มอบแจกัญช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 ดร.อรรถการ ตฤษณารังสี ในโอกาสรับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีปทุมวัน สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการจัดการนวัตกรรม และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
สาระสำคัญของการประชุม ได้แก่ ประธานแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับโครงการที่ได้ไปร่วมงานเพื่อประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาอาชีวศึกษา เช่น บรรยายในโอกาสเป็นตัวแทนหอการค้าไทยใน “โครงการอาชีวะยุคใหม่ สร้างเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี ซึ่งได้เสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทยกับผู้บริหารอาชีวศึกษารุ่นใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “Young สอศ.” เรื่องไปร่วมงานแถลงข่าวผลงานรอบสามเดือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการเชิญนายกสภาฯ ไปร่วมงานด้วยตัวเอง และเรื่องที่นายกสภาฯ ไปพบเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในวันที่ 9 มกราคม 2567 เพื่อเสนอโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งมีผู้ร่วมไปนำเสนอ 2 ท่านคือ ดร.พีลิน สกุลณา กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ และ นายสมศักดิ์ บุญโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 โดยมีประเด็นนำเสนอ 3 เรื่อง ประกอบด้วย โครงการทวิภาคีต่างประเทศ กรณีศึกษา โครงการความร่วมมือกระทรวงแรงงาน และมูลนิธิ IM Japan โครงการวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาระบบทวิภาคี และโครงการ SMART TAX
ซึ่งในการประชุมสภานี้ ได้มอบให้ ดร.พีลิน สกุลณา เป็นผู้นำเสนอข้อมูล โดยสรุปการดำเนินโครงการ ประกอบด้วยแผนการดำเนินโครงการ 8 เรื่อง ประกอบด้วย 1) ประสานแผนขับเคลื่อนIM JAPAN 2) เสนอโครงการกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในประเด็น MOU IM JAPAN กระทรวงแรงงาน และแนวทางการขับเคลื่อนโครงการต้นแบบโดยสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 3) การเตรียมการด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อขออนุญาตจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีต่างประเทศโดยความร่วมมือผ่านอนุวิชาการสภาสถาบันและผู้แทนของเครือข่ายความร่วมมือ 4) เสนอโครงการ วิเคราะห์ งบประมาณเสนอสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เฉพาะการบริหารจัดการ (กรณี สอศ.ผ่านข้อ 2 และมีการขับเคลื่อนภาพรวม) 5) ขออนุญาตจัดการเรียนการสอน ปวช, ปวส, ป.ตรี ตามความพร้อม การเทียบโอน สะสมหน่วยกิต 6) ประสานสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับรองหลักสูตร ในสาขาวิชาพร้อมขอรับเงื่อนไขในการ Acradit ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเอกสารต่าง ๆ ขั้นตอนการยื่นขอ 7) เร่งรัดการผลิตชุดการเรียนรู้ Digital Learning พัฒนาการเรียนรู้ ผ่าน url (สร้างต้นแบบ) 8) คู่มือการจัดการเรียนระบบทวิภาคีต่างประเทศโดยความร่วมมือกับ IM JAPAN กระทรวงแรงงาน
ซึ่งทั้ง 8 เรื่องได้ขอให้ทุกวิทยาลัยเข้ามามีส่วนร่วมเพราะการดำเนินการเป็นการดำเนินงานภาพรวมของประเทศ ที่มอบหมายให้สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 เป็นเจ้าภาพและผู้ประสานงานหลัก ซึ่งนายกสภาฯ ได้แจ้งในที่ประชุมนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 ไปแล้ว และได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการแล้ว เรื่องถัดมาเป็นแนวคิดเพื่อการดำเนินการลดหย่อนภาษีของสถานประกอบการร่วมจัดการศึกษาระบบทวิภาคี แนวคิดการกำหนดมาตรฐานการจ้างงานสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาในระบบทวิภาคี และโครงการที่เป็นเรื่องดีมีประโยชน์ในการบริหารจัดการของผู้บริหารอาชีวศึกษา เช่น โครงการ “เรื่องเล่าสำหรับผู้บริหาร” ที่จะเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารมาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้บริหารของสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 วิทยากร เช่น พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไป มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
โดยได้กำหนดวันจัดโครงการเป็นวันที่ 5 มีนาคม 2567 ณ สำนักพัฒนาสามรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา ผู้เข้าร่วมโครงการได้แก่ ผู้บริหารยุคใหม่ของสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 ตัวแทนผู้บริหารสถาบันการอาชีวศึกษาและผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 100 คน ซึ่งจะเป็นถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์การทำงานที่ดีและประโยชน์ให้ผู้บริหารยุคใหม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีในการทำงาน สำหรับวาระสืบเนื่อง ได้แก่ การนำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดย ดร.บุญสืบ โพธิ์ศรี ได้นำเสนอตัวอย่างการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งได้รับการชื่นชมจากสภาฯ วาระพิจารณา ได้แก่ แผนการรับนักศึกษา ปี 2567 ข้อบังคับเรื่องคุณสมบัติครู คณาจารย์ ฯ ของสถาบันฯ และวาระพิจารณาหลักสูตรปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการที่ปรับปรุงตามเกณฑ์ใหม่จำนวน 7 หลักสูตร และหลักสูตรที่พัฒนาใหม่จำนวน 1 หลักสูตร ซึ่งคณะกรรมการได้เห็นชอบในหลักการ และในการประชุมได้กล่าวถึง “โครงการก้าวดี” ที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีดี 9 เรื่อง ให้ดำเนินการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมเนื่องจากเป็นโครงการที่ดีมากและได้รับการชื่นชมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก้าวดี ประกอบด้วย ดีที่หนึ่ง สุขภาพดี ดีที่สอง ความรู้ดี ดีที่สาม ทักษะฝีมือดี ดีที่สี่ ทัศนคติดี มีจิตอาสา ดีที่ห้า คนดี วินัยดี ดีที่หก มุ่งมั่น อดทนดี ดีที่เจ็ด ซื่อสัตย์ กตัญญูดี ดีที่ดีแปด วิสัยทัศน์ดี เป็นผู้นำที่ดี ดีที่เก้า มีงานทำและรายได้ดี
ก่อนปิดการประชุม ประธาน ได้เน้นย้ำเรื่องการทำงานของผู้บริหารเกี่ยวกับ “การมอบและการรับมอบงาน” ซึ่งมี 5 ขั้นตอนที่สำคัญ ได้แก่ 1) เร่งดำเนินการ 2) รายงานกลับทุกครั้ง 3) ติดตามผล 4) ดำเนินการให้บรรลุผล 5) รายงานผลกลับครั้งสุดท้าย โดยทั้ง 5 ขั้นตอนจจะทำให้งานที่ได้ดำเนินการอยู่ประสบผลสำเร็จ
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 228 ครั้ง