เสวนาสิทธิผู้ต้องหา-จำเลย ในการได้รับความช่วยเหลือจากทนายความขอแรง

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 126 ครั้ง

ศาล อัยการ นักวิชาการ ทนายความ ร่วมเวทีเสวนา สิทธิผู้ต้องหาและจำเลยในการได้รับความช่วยเหลือจากทนายความ ประสานเสียงพัฒนาระบบทนายความขอแรง ตามนโยบายประธานศาลฎีกา

เมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ที่คณะสังคมศาสตร์ ชั้น 12 อาคาร 2 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จัดเวทีเสวนา เรื่อง “สิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในการได้รับความช่วยเหลือจากทนายความ” ซึ่งมีการเสวนาถึงสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย ซึ่งผู้ต้องหาหรือจำเลยบางคนยังไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิตามกฎหมายอย่างไร สิทธิที่มีอยู่นั้นดีพอและเพียงพอแล้วหรือไม่ ทนายความที่รัฐจัดหาให้สามารถช่วยคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย รวมไปถึงประชาชนได้มากน้อยเพียงใด มีประสิทธิภาพคุณภาพดีพอหรือไม่ เปรียบเทียบระบบของไทยกับต่างประเทศจะมีพัฒนาการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือจากทนายความของประชาชนอย่างไรให้ดีขึ้น บทบาทของศาลและอัยการในการช่วยให้ประชาชน รวมถึงผู้ต้องหาและจำเลยเข้าถึงสิทธิดังกล่าวได้อย่างเสมอภาคและเที่ยงธรรมภายใต้หลักนิติธรรม ศาลยุติธรรมตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงผู้ต้องหาและจำเลยให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันภายใต้หลักนิติธรรม ศาลยุติธรรมจึงจัดให้มีการพัฒนาระบบทนายขอแรงให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเพื่อสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประธานศาลฎีกา (นางอโนชา ชีวิตโสภณ) ข้อ 3 “เท่าเทียม” ศาลยุติธรรมอำนวยความยุติธรรมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

ดร.พรภัทร์ ตันติกุลานันท์ รองเลขานุการศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กล่าวว่า สิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในการต่อสู้คดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายและเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ผู้ต้องหาและจำเลยจำนวนมากยังไม่ทราบถึงสิทธิดังกล่าว ซึ่งได้แก่ 1. สิทธิในการจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย 2. สิทธิที่รัฐต้องจัดหาทนายความมาให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย 3. สิทธิในการมีทนายความที่มีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ช่วยผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อสู้คดี ศาลยุติธรรมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของสิทธิผู้ต้องหาและจำเลยในการต่อสู้คดี จึงได้มีการส่งเสริมพัฒนาระบบทนายขอแรง โดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพของทนายขอแรงเป็นหลักสำคัญ ซึ่งจะมีการพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าสู้ตำแหน่ง การทำหน้าที่ ผลงาน การอบรม การประเมินการทำหน้าที่สำหรับใช้ประกอบการต่ออายุการขึ้นทะเบียนทนายขอแรงในรอบถัดไป ซึ่งอาจจะพิจารณาแนวทางโดยมีต้นแบบมาจากระบบการขึ้นทะเบียนผู้พิพากษาสมทบ ผู้ประนีประนอมประจำศาล อนุญาโตตุลาการ ผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมเป็นแม่แบบ การมุ่งเน้นประสิทธิภาพของทนายขอแรงนั้น ศาลยุติธรรมจะมีการพัฒนาให้มีการกำหนดคุณสมบัติของทนายความที่จะมาทำหน้าที่เป็นทนายขอแรงโดยมีการแยกประเภทความเชี่ยวชาญในการทำคดีแต่ละประเภท มีการสอบวัดความรู้ มีการจัดการอบรม พร้อมทั้งมีการประเมินการทำหน้าที่ของทนายขอแรงดังกล่าวจากผู้พิพากษา ผู้ต้องหาหรือจำเลยเพื่อนำไปประกอบในการพิจารณาต่ออายุการทำหน้าที่ทนายขอแรงต่อไป ซึ่งหากมีการพัฒนาระบบการขึ้นทะเบียนทนายขอแรงให้มีประสิทธิภาพตามนโยบายของประธานศาลฎีกา ข้อ 3 “เท่าเทียม” แล้ว จะส่งผลให้ประชาชน รวมถึงผู้ต้องหาและจำเลยสามารถใช้สิทธิของตนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ต้องหาและจำเลยได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ (ไอลอว์) (ทนายความ/ภาคประชาชน) มีความเห็นว่า ปัญหาหลัก คือ ประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ทนายความที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ซึ่งทนายความที่เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ส่วนใหญ่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในการต่อสู้คดีได้อย่างแท้จริง ซึ่งควรจัดให้มีการพัฒนาระบบทนายขอแรงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญ มีแนวคิดเห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยโดยกำหนดให้รัฐจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคน ไม่ใช่จัดหาให้แต่เฉพาะผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยากจนเท่านั้น

นายวิพล กิติทัศนาสรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยกฎหมายอาญาและพัฒนากระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า ผู้ต้องหาและจำเลยควรได้รับสิทธิในการจัดหาทนายความเข้าช่วยเหลือในการต่อสู้คดีตั้งแต่ในชั้นสอบสวนซึ่งจะทำให้สำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนที่ต้องส่งต่อมายังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาประกอบพยานหลักฐานว่าจะส่งฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือไม่นั้น มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในประเทศไทยควรนำหลัก “Pro Bono” มาใช้ คือ หลักการทำงานโดยเน้นประโยชน์ของส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง โดยให้ทนายความทำหน้าที่ให้บริการทางกฎหมายซึ่งเป็นการอาสาสมัครโดยไม่รับค่าตอบแทนใด ๆ ถือเป็นการให้บริการทางสังคม เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ได้รับความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

ดร.สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า เยอรมันนีใช้ระบบไต่สวน ศาลเข้ามามีบทบาทในการค้นหาความจริง ไม่ใช่พิจารณาเพียงแต่พยานหลักฐานที่คู่ความแต่ละฝ่ายนำเสนอเท่านั้น ศาลอาจเรียกให้พยานมาสืบเองก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามทนายความก็ยังมีบทบาทในการเข้าไปทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในการต่อสู้คดีซึ่งยังคงเป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานที่สำคัญซึ่งเหมือนกับที่กฎหมายของประเทศไทยกำหนดเรื่องสิทธิดังกล่าวไว้เช่นกัน แต่ประเทศไทยจะกำหนดสิทธิในการมีทนายความหรือการที่รัฐต้องจัดหาทนายความให้กับผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้เพียงแต่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาลและคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตหรือคดีที่มีอัตราโทษจำคุกเท่านั้น (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173) ศาลยุติธรรมคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในการต่อสู้คดีเป็นอย่างยิ่ง จึงเห็นควรให้มีการพัฒนา ปรับปรุงระบบทนายขอแรงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งทนายความที่เข้ามาทำหน้าที่ทนายขอแรงนั้นต้องมีมาตรฐานในการทำหน้าที่ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีการอบรม ทดสอบความรู้ก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ มีการเก็บข้อมูล ประวัติในการทำคดี การประเมินการทำหน้าที่ทนายขอแรง เพื่อให้ผู้ต้องหา หรือจำเลย รวมไปถึงประชาชนได้เข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างแท้จริง

ผศ.ดร.เบญจวรรณ ธรรมรัตน์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้ความเห็นว่า ทนายขอแรงได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่น้อย แต่มีภาระค่าใช้จ่ายในการทำคดีสูง ถ้าได้รับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่สูงขึ้น อาจเป็นแรงจูงใจให้ทนายความเข้ามาทำหน้าที่ทนายขอแรงมากยิ่งขึ้น การส่งเสริมและการพัฒนาให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายเฉพาะด้านนั้นเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญ ซึ่งทำให้ทนายความที่จะเข้ามาทำหน้าที่ทนายขอแรงนั้นทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 126 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน