“เพิ่มพูน” เปิดเวทีถกยกระดับคะแนน PISA เด็กไทย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 598 ครั้ง

สภาการศึกษาเปิดเวทีถกพันธมิตรทางการศึกษานานาชาติ ระดมสมองเตรียมความพร้อมขยับคะแนน PISA  ยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทย รมว.ศธ. มั่นใจผลประเมิน ปี 2025 สูงขึ้นแน่นอน

วันที่ 26 มี.ค.67 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการการปรับปรุงคุณภาพและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการศึกษา ในหัวข้อการใช้ PISA ในทางปฏิบัติ : พลังของข้อมูลเพื่อการปรับปรุงการศึกษา – การเชื่อมโยงผลจาก PISA กับการปฏิรูประบบการศึกษา พร้อมพันธมิตรทางการศึกษา โดยมี​ Mr. Andreas Schleicher ผ​อ.ฝ่ายการศึกษาและทักษะ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา, ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา, Ms. Kyungsun Kim ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประจำประเทศไทย, ​Mr. Yorihisa Oneda (First Secretary of the Permanent Delegation of Japan to the OECD) และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิก OECD ที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับผลการทดสอบ PISA มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนจากองค์กรหลัก และผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบ PISA ทุกภาคส่วน รวมทั้งสิ้น 20 หน่วยงาน ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ผลการทดสอบ PISA 2023 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า สมรรถนะการเรียนรู้ของเด็กไทยถดถอยกว่าช่วงที่ผ่านมา มี 2 ประเด็น​ที่สะท้อนให้เห็น คือ 1 เราเตรียมความพร้อมผู้เรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับประถมศึกษาได้พร้อมหรือไม่ และ 2 ผู้เรียนที่ผ่านการทดสอบในแต่ละช่วง​จะมีความพร้อมเพียงใดในการเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา หรือตลาดแรงงาน ในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ​ ส่งผลถึงสมรรถนะในการแข่งขันของประเทศ จึงอยากให้ช่วยกันคิดและค้นหาสาเหตุร่วมกันว่า​ เหตุใดเด็กไทยจึงมีสมรรถนะการเรียนรู้ที่แตกต่างจากเด็กในวัยเดียวกัน ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค​

ในครั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา องค์การโออีซีดี และองค์การยูนิเซฟ จัดเวทีเชิงนโยบายประชุมเชิงปฏิบัติการ และมีหน่วยงานภาคีด้านการศึกษาร่วมสนับสนุน ขอบคุณ​ทุกฝ่าย​ที่ได้ตระหนักถึงวาระแห่งชาติ​ ในด้านความสามารถในการอ่าน คำนวณ และวิเคราะห์ของผู้เรียนไทย ว่าด้วยการยกระดับความสามารถของผู้เรียนไทยที่จบจากการศึกษาภาคบังคับ โดยใช้มาตรฐานสากลในการวิเคราะห์สัมฤทธิ์ผลในการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเข้าร่วมโครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ซึ่งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นผู้ดำเนินการ ภายใต้คณะกรรมการ PISA แห่งชาติ​ พร้อมชี้ว่า การสร้างไม้บรรทัดวัดสมรรถนะเด็กไทยบนเวทีระดับโลกเป็นงานยาก ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพ่อ แม่ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน และที่สำคัญที่สุด คือ ผู้เรียน ในการสะท้อนสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้จากโรงเรียนและสังคมเมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา

ซึ่งการประชุมหารือครั้งนี้ได้นำข้อมูล ข้อค้นพบจากทุกภาคส่วน มาคิดวิเคราะห์ร่วมกัน ปรับเปลี่ยน เชื่อว่าผลจากการระดมความคิด จะก่อให้เกิดแนวทางการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของไทย หรือการสร้างประสิทธิภาพทางการศึกษาอย่างเข้มข้น พร้อมมั่นใจผลการประเมิน PISA ของนักเรียนในปี 2025 คะแนนจะดีมากขึ้นอย่างแน่นอน

ด้าน ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ระบุว่า การประเมิน PISA จะเน้นสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน​ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการประเมินสำคัญที่ประเทศไทยให้ความสนใจ​ กระทรวงศึกษาธิการจึง​ได้มีการลงนามความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษากับองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาแนวคิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการศึกษาและผลการประเมินทางการศึกษาในระดับนานาชาติมาใช้ในการวางแผนและกำหนดนโยบายทางการศึกษาของประเทศ ซึ่งวันนี้หลาย ๆ ประเทศที่ประสบความสำเร็จได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในอดีตเคยประสบปัญหาอย่างเด็กไทยแต่สามารถพัฒนาการคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร  การประชุมครั้งนี้ได้เชิญหน่วยงานจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ PISA มาประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน และยกระดับคะแนน PISA ของประเทศให้สูงขึ้นกว่าปีก่อน ๆ ที่ผ่านมาได้ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะเป็นเจ้าภาพหลักจัดทำแผนระดับ 3 ด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล  

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 598 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน