มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 210 ครั้ง
ประธานศาลฎีกา เปิดแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา และ แผนกคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งในศาลแพ่ง จัดผู้เชี่ยวชาญประจำแผนก เริ่มทำการ 2 เม.ย. พร้อมจัดการคดีเฉพาะทาง สร้างความเที่ยงธรรมรวดเร็ว
วันนี้ (2 เม.ย.67) ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นางอโนชา ชีวิตโสภณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในพิธีเปิด “แผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา และ แผนกคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งในศาลแพ่ง” โดยมี นายธานี สิงหนาท เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายยอดชาย วีระพงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายอมรรัตน์ กริยาผล อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง นายเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และคณะผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา ศาลแพ่ง ร่วมพิธี
นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า การจัดตั้งแผนกคดีใหม่ทั้งสองนับเป็นการดำเนินนโยบายสำคัญประการหนึ่งของประธานศาลฎีกา ข้อ 2 “เที่ยงธรรม” (Fairness) มุ่งพัฒนาการบริหารจัดการคดี เพื่อสร้างความยุติธรรมที่รวดเร็ว โดยมีบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญพิเศษในกฎหมายแต่ละประเภทคดีปฏิบัติหน้าที่ทำงานเพื่อประชาชน ด้วยความโปร่งใส ไร้อคติ อันเป็นหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพแก่คู่ความและประชาชนทั้งทางแพ่งและอาญา โดยการจัดตั้งแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา สำนักงานศาลยุติธรรมและศาลอาญาได้ขับเคลื่อนเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นไปโดยรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้วิธีการทางเทคโนโลยีหรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชนจนต้องสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก และผู้กระทำผิดนั้นใช้วิธีการที่ซับซ้อน และยังมีผู้ร่วมกระทำผิดหลายรายเป็นเครือข่ายเพื่อให้ได้ทรัพย์สินและปกปิดอำพรางการกระทำความผิด ดังนั้นการสืบสวนตลอดจนการนำพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดในชั้นศาลจึงต้องรวดเร็วมีประสิทธิภาพ และจำเป็นต้องดำเนินการโดยบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นการเฉพาะด้วย ซึ่งประธานศาลฎีกาลงนามประกาศ ก.บ.ศ.จัดตั้งแผนกคดี ฯ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2567 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2567 ต่อมาอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกประกาศให้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
สำหรับ “คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ที่จะเข้าสู่การพิจารณาคือคดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ คดีความผิดฉ้อโกง กรรโชกหรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยแผนกคดีนี้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อยู่ในเขตอำนาจและที่โอนมาตามกฎหมาย เว้นแต่คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของแผนกคดียาเสพติด แผนกคดีค้ามนุษย์ และยังให้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้วย ส่วนการบริหารจัดการในแผนกคดีให้มีผู้พิพากษาหัวหน้าแผนก 1 คน มีผู้พิพากษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นผู้พิพากษาประจำในแผนกทำหน้าที่เป็นองค์คณะออกนั่งบัลลังก์พิจารณาพิพากษาคดี และช่วยเหลืองานผู้พิพากษาหัวหน้าแผนก ฯ ในการบริหารและดำเนินงานต่าง ๆ ของแผนกให้เป็นไปโดยเรียบร้อยด้วย
ด้านแผนกคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งในศาลแพ่ง ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้ลงนามเมื่อเดือน ธ.ค.2566 ให้จัดตั้งแผนกคดีฟอกเงิน ฯ ตามแนวทางที่ศาลแพ่งเสนอโครงการ เพื่อให้การบริหารจัดการคดีฟอกเงินและมาตรการทางแพ่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านความรวดเร็ว ด้านการเก็บรักษาความลับ ด้านการคุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้สุจริต โดยสถานการณ์ปัจจุบันท่ามกลางการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เงินและประโยชน์ที่ได้จากการก่ออาชญากรรมจำนวนมาก สามารถโยกย้ายได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบอินเตอร์เน็ต นอกเหนือจากการถูกนำมาฟอกเพื่อให้เป็นเงินที่ถูกกฎหมายผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ สถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ การใช้สินทรัพย์ดิจิทัล การตั้งบริษัทและธุรกิจบังหน้า มูลนิธิและองค์กรการกุศล อีกทั้งศาลแพ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ.2559 มาตรา 14 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ที่จะใช้มาตรการทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม
การจัดตั้งแผนกคดีนี้จึงสอดคล้องและเหมาะสมตามสภาพคดีปัจจุบันที่มีรูปแบบใหม่และความซับซ้อน ตลอดจนภารกิจของศาลแพ่งที่ต้องนำมาตรการทางแพ่งใช้ในการพิจารณาและมีคำสั่งกำหนดรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ไม่ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะนำไปใช้ในการก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธได้ โดยการบริหารจัดการในแผนกจะแต่งตั้งผู้พิพากษา 1 คน เป็นหัวหน้าแผนก ให้มีผู้พิพากษาประจำแผนกเป็นการเฉพาะทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีเช่นกัน อันเป็นการพัฒนาผู้พิพากษาให้มีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษอีกทางหนึ่งด้วย ขณะที่รายงานสถิติคดีความผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่ศาลแพ่งรับใหม่เข้ามาช่วงปี พ.ศ.2566 (ม.ค.- ก.ย.) มี 132 ข้อหา ทั้งนี้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งได้ออกประกาศให้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 210 ครั้ง