“อลงกรณ์” เร่งผนึกทุกภาคี เดินหน้าโครงการคาร์บอนสีน้ำเงิน สู้วิกฤติโลกร้อนทะเลเดือด

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 242 ครั้ง

อลงกรณ์เห็นตรง ดร.ธรณ์ไทยเผชิญวิกฤติโลกร้อนทะเลเดือด ชี้โลกรวน คือวิกฤตการณ์แห่งศตวรรษที่ 21 เร่งผนึกทุกภาคี เดินหน้าโครงการคาร์บอนสีน้ำเงิน (Blue Carbon) หวังฟื้นฟูป่าชายเลนลดคาร์บอน 110 ล้านตัน สู่เป้าหมายเน็ทซีโร่ (Net Zero)

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท โพสต์บทความวันนี้เกี่ยวกับปัญหาวิกฤตโลกร้อนกับผลกระทบต่อประเทศไทยและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ในหัวข้อ โลกรวน คือวิกฤตแห่งศตวรรษที่ 21 : ก้าวต่อไปของประเทศไทยในการลดโลกร้อนทะเลเดือด โดยมีข้อความว่า

อ่านเรื่อง โลกเดือด ทะเลเดือดของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ น้องที่เคยร่วมงานขบวนการปฏิรูปประเทศก็เห็นตรงกัน 100% และขอร่วมแชร์ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme) ที่ทำให้เกิดภาวะ โลกรวน ในหัวข้อ

โลกรวน คือวิกฤติการณ์แห่งศตวรรษที่ 21 : ก้าวต่อไปของประเทศไทยในการลดโลกร้อนทะเลเดือด

ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกร้อนทะเลเดือดเป็นวิกฤตแห่งศตวรรษที่ 21 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก ทำให้มีความพยายามที่จะลดก๊าซเรือนกระจกด้วยมาตรการต่าง ๆ ภายใต้กรอบการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติหรือ (COP) เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปเริ่มใช้ระบบภาษีคาร์บอนในรูปมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) กับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

สำหรับประเทศไทยของเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 0.8 ของโลกมากเป็นอันดับที่ 19 ของโลก โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิกว่า 240 ล้านตันต่อปี เฉพาะด้านการใช้พลังงาน โดยภาพรวมในปี 2565 ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 1.5%หากจะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้ภาคพลังงานจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ปีละ 86 ล้านตันคาร์บอนฯ และป่าไม้ต้องดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ปีละ 120 ล้านตันคาร์บอน แต่ถ้าทำไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น

องค์การสหประชาชาติ คาดว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุ ฯลฯ ที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งกว่านั้นคือจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติรุนแรงที่สุด 10 อันดับแรกของโลก

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยทั้งการลดปริมาณการปล่อยและเพิ่มศักยภาพในการดูดกลับหรือกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งต้องผนึกความร่วมมือทุกฝ่ายทำงานเชิงรุกทุกหน้างาน

ดังนั้นการเดินหน้าเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) เช่น โครงการปลูกโกงกางในพื้นที่ป่าชายเลนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยอธิบดีคนใหม่ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี ที่ช่วยปลดล็อคปมส่อทุจริตของโครงการนี้ในอดีตพร้อมกับขยายความร่วมมือทุกภาคส่วน ทำให้เกิดเครือข่ายพันธมิตรโกงกางประเทศไทย (TMA: Thailand Mangrove Alliance) เป็นครั้งแรก ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของโครงการลดคาร์บอน เนื่องจากป่าชายเลนของประเทศไทยมีศักยภาพลดคาร์บอนได้ถึง 110 ล้านตัน ในระยะเวลา 10 ปี

ทั้งนี้เป็นรายงานของ ดร.สนใจ หะวานนท์ ผู้เชี่ยวชาญป่าชายเลนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งได้ศึกษาวิจัยเรื่องป่าชายเลนในหลายประเทศมากว่า 40 ปี ระบุว่า “การสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ของป่าชายเลนโดยกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ต้องใช้คาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยออกซิเจนออกมา พบว่าป่าชายเลนของประเทศไทยสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหนือพื้นดินได้ 27.1 ตันต่อเฮกตาร์ (6.25 ไร่) และสะสมในดิน 16.9 ตันต่อเฮกตาร์ รวมแล้ว 44.0 ตันต่อเฮกตาร์ ประมาณการณ์ได้ว่าป่าชายเลนของประเทศไทยประมาณ 1.5 ล้านไร่ หรือประมาณ 0.24 ล้านเฮกแตร์ สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 11 ล้านตันต่อปี”

เพื่อระดมพลังทุกภาคส่วนในการเร่งทำงานลดโลกร้อนลดคาร์บอน ทางมูลนิธิฯ ได้หารือกับผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรโกงกางประเทศไทย (TMA: Thailand Mangrove Alliance) และ กรมทช.เกี่ยวกับการจัดสัมนาเรื่อง ป่าโกงกาง สู่เป้าหมายซีโร่คาร์บอน (Zero Carbon) ของประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ลดโลกร้อนในเร็ว ๆ นี้

โดยต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) กับ 32 องค์กรภาคีเครือข่ายป่าชายเลนประเทศไทย (Thailand Mangrove Alliance) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นการบูรณาการความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตามหลักการ 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ ในการปกป้อง ฟื้นฟู และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าชายเลน ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ การจัดการป่าชายเลนอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) และการประกอบอาชีพที่ยั่งยืนของชุมชนป่าชายเลน ในพื้นที่เป้าหมาย 24 จังหวัดชายทะเลของประเทศไทย ซึ่งจะมีการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือภาคีเครือข่ายป่าชายเลนประเทศไทย (Thailand Mangrove Alliance) ในงานวันป่าชายเลนแห่งชาติ 10 พฤษภาคม 2567 ที่ห้องประชุมช้างเผือก องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของไทยในการแก้ปัญหาโลกร้อน

“มูลนิธิจะสนับสนุนการพัฒนาและการอนุรักษ์ป่าโกงกาง รวมไปถึงการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนและคนรุ่นต่อไป เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรป่าชายเลน และจะดำเนินการปลูกต้นโกงกาง เพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การทำโครงการคาร์บอนเครดิต (Carbon Credits) การพัฒนาองค์ความรู้ว่าด้วยเรื่องบลูคาร์บอน (Blue Carbon) รวมถึงการศึกษาและการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูป่าชายเลนด้วยความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หน่วยราชการส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมถึงชุมชนในพื้นที่ ในการปลูกและขยายพันธุ์เมล็ดและฝักโกงกางในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย”

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 242 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน