มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 152 ครั้ง
“อนุทิน” สั่งการ กปภ. เร่งเดินหน้าโครงการวางท่อส่งน้ำมายัง จ.ภูเก็ต สร้างความมั่นคงน้ำอุปโภคบริโภคเมืองท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายชาดา ไทยเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพรพจน์ เพ็ญพาส ประธานกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และคณะ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กปภ.สาขาภูเก็ต สั่งการ กปภ. เร่งเดินหน้าโครงการวางท่อส่งน้ำมายัง จ.ภูเก็ต สร้างความมั่นคงน้ำอุปโภคบริโภคเมืองท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน ณ อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ และโรงสูบน้ำดิบแรงต่ำคลองเจ๊ะตรา ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวและพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และรัฐบาลมีนโนบายส่งเสริมการพัฒนา Medical Hub เพื่อให้ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภูมิภาคอันดามัน ดังนั้น จึงต้องพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ รองรับโดยเฉพาะน้ำประปา ซึ่งจำเป็นในการอุปโภคบริโภค ต้องมีการวางแผนด้านการผลิตและส่งน้ำประปาให้เชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะโครงการผลิตและส่งน้ำประปาจากเขื่อนรัชชประภาไป จ.ภูเก็ต พังงา และกระบี่ กปภ. ควรเร่งศึกษาและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งดำเนินการต่อไป เพื่อให้จังหวัดฝั่งอันดามันมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ รองรับความต้องการของประชาชน ตลอดจนส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่
นายจักรพงศ์ คำจันทร์ รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 2) รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. กล่าวว่า ปัจจุบัน กปภ.สาขาภูเก็ต ให้บริการน้ำประปาแก่ประชาชนในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ถลาง และ อ.กระทู้ ปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการ 7.15 หมื่นราย โดยช่วงฤดูฝนจะใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในการผลิตน้ำประปา ขณะที่ช่วงฤดูแล้งจะใช้น้ำจาก อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อ่างเก็บน้ำบางวาด และอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ ซึ่งจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นเนื่องจากฝนทิ้งช่วงส่งผลให้ปริมาณน้ำดิบในอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการขยายตัวในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและโครงการที่อยู่อาศัยที่มีเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมีปริมาณสูงขึ้นกว่าทุก ๆ ปี ดังนั้น กปภ.สาขาภูเก็ต จึงได้เร่งแก้ปัญหาภัยแล้งและเตรียมพร้อมน้ำดิบเพื่อรองรับการผลิตน้ำประปาให้บริการประชาชนในอนาคต เป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเร่งด่วน สำหรับช่วงฤดูแล้ง ปี 2567 ได้ใช้งบประมาณเกือบ 30 ล้านบาท ซื้อน้ำดิบจากขุมน้ำเอกชนในพื้นที่ พร้อมทั้งดำเนินการเช่าระบบผลิตแบบ เคลื่อนที่ (Mobile Plant) เพื่อผลิตน้ำประปาให้บริการประชาชน 2. ระยะกลาง โครงการปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาพังงา-ภูเก็ต โดยระยะที่ 1 ได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2567 อยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปาใช้แหล่งน้ำดิบจากคลองพังงา คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 รองรับประชาชนในพื้นที่อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา อ.ถลาง กระทู้ เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต และ 3. ระยะยาว จะดำเนินโครงการผลิตและส่งน้ำประปาจากเขื่อนรัชชประภาไป จ.ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบให้ กปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งขณะนี้ กปภ. อยู่ระหว่างหาผู้รับจ้าง เพื่อจัดทำรายงานการศึกษาทบทวนความเหมาะสม และจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน คาดว่า กปภ. จะเสนอผลการศึกษา (First Report) ต่อ ครม. เพื่อทราบ ภายในเดือนกันยายน 2567
รักษาการแทนผู้ว่าการ กปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กปภ. จะเร่งรัดดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนงาน รวมทั้งจะบูรณาการความร่วมมือ ร่วมกับจังหวัดภูเก็ตและส่วนราชการในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำดิบเพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา สามารถรองรับความต้องการใช้น้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ผู้ประกอบการธุรกิจ ตลอดจนนักท่องเที่ยวว่าจะมีน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอและยั่งยืน ทั้งนี้ หลังจากที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ได้เกิดฝนตกหนัก ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ว่าจะมีปริมาณน้ำดิบเพียงพอสำหรับผลิตน้ำประปาตลอดช่วงฤดูแล้งปีนี้แน่นอน
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 152 ครั้ง