มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 197 ครั้ง
บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ร่วมกับ ชมรมวิทยาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ชมรมครูหุ่นยนต์ไทย บริษัท เอ็ม รีพับบริค ซัพพลาย และ โรงเรียนวัดขอนชะโงก (เขียววิมลราษฎร์อุปถัมภ์) จังหวัดสระบุรี จัดการแข่งขันทักษะวิชาการด้านหุ่นยนต์และอากาศยานไร้คนขับ “CP-Meiji Robotics Grand Championship 2024” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีทักษะแห่งอนาคต ในศตวรรษที่ 21 โดยมี นายวิชัย บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขัน นายยุทธนา โพธิวิหค ปลัดจังหวัดสระบุรี และนางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ ซีพี-เมจิ เป็นผู้มอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการแข่งขัน ณ โรงเรียนวัดขอนชะโงกฯ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี
นางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กล่าวว่า ซีพี-เมจิ ดำเนินโครงการ “ซีพี-เมจิ นวัตกรรม-การศึกษา-อนาคต” ตั้งแต่พ.ศ. 2563 ภายใต้เจตนารมณ์ในการเพิ่มคุณค่าชีวิต เพื่อพัฒนาการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน โดยร่วมมือกับโรงเรียนเครือข่ายจำนวน 9 แห่งในจังหวัดสระบุรี จัดอบรมให้ความรู้ทักษะการประกอบหุ่นยนต์และการเขียนโปรแกรมอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรม Robotics and Coding เปิดโอกาสการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทั้งนี้ยังส่งเสริมการแข่งขันหุ่นยนต์ในเวทีระดับประเทศและนานาชาติ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนในการเข้าศึกษาต่อด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ รวมถึงคอมพิวเตอร์ ร่วมผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพแก่ประเทศต่อไป
ด้าน ดร.กัญญ์ชิสา ทุมมาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดขอนชะโงกฯ กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่จำเป็นสำหรับนักเรียนในศตวรรษที่ 21 ผ่านเรียนรู้วิธีการออกแบบหุ่นยนต์และอากาศยาน ด้วยการประยุกต์ทักษะด้านกลศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และคณิตศาสตร์ ร่วมกับการออกแบบความคิดสร้างสรรค์ พร้อมเปิดโอกาสให้นักเรียนทั่วประเทศแสดงผลงานในการแข่งขันหุ่นยนต์และอากาศยาน โดยใช้กติกาการตัดสินระดับสากล เพื่อต่อยอดการแข่งขันในระดับสูงหรือระดับนานาชาติ สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดการศึกษา รูปแบบ Active Learning และ STEM ให้เด็ก ๆ ได้เรียนดี มีความสุข อย่างยั่งยืน
สำหรับ การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 263 ทีม กว่า 1,000 คน จาก 74 โรงเรียน ใน 30 จังหวัดแต่ละภูมิภาคของประเทศ โดยได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 6 ประเภท ได้แก่ 1.) หุ่นยนต์บังคับมือแบบขาเดินภารกิจขนส่งน้ำนมดิบรีโมทแบบสาย ซีพี-เมจิ 2.) หุ่นยนต์บังคับมือแบบขาเดินภารกิจขนส่งน้ำนมดิบรีโมทแบบสาย รวมทุกระดับชั้น 3.) หุ่นยนต์บังคับมือเคลื่อนที่ด้วยล้อภารกิจขนส่งนมรีโมทแบบสาย 4.) หุ่นยนต์ต่อสู้แบบขา 5.) หุ่นยนต์อัตโนมัติขนถ่ายหินอ่อน 6.) โครงงานหุ่นยนต์ “ไฟฟรีจากฟ้า” Solar Energy และรับถ้วยเกียรติยศจากผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี 4 ประเภท ได้แก่ 1.) หุ่นยนต์บังคับมือเตะจุดโทษ 2.) หุ่นยนต์ซูโม่หนึ่งพันกรัมควบคุมด้วยรีโมท 3.) หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ 4.) อากาศยานไร้คนขับทำภารกิจ
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 197 ครั้ง