สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 ร่วมงานครบรอบ 83 ปี สอศ.

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 204 ครั้ง

นายอรรถการ ตฤษณารังสี นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 และ นายธรีวิทย์ หทัยรัตนานนท์ รักษาราชการผู้อำนวยการ สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง ร่วมงานครบรอบ 83 ปี วันสถาปนาสำนักงานคณะกรรการการอาชีวศึกษา สู่การขับเคลื่อนกำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง มุ่งพัฒนาประเทศด้วยความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมแสดงความยินดีกับผู้เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการครั้งแรกจำนวน 50 ราย ในสถาบันการอาชีวศึกษา โดยมี นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธาน

นายยศพล เวณุโกเศศ  เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ในวาระครบรอบวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรการการอาชีวศึกษา (กรมอาชีวศึกษา เดิม) ครบรอบ 83 ปี 19 สิงหาคม 2567 นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั่วประเทศ ได้ดำเนินการในการจัดการเรียนการสอน พัฒนาคุณภาพการศึกษาอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง 83 ปี ตั้งแต่เป็นกรมอาชีวะ และเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทุกท่านได้ทุ่มเททำงานพัฒนาการเรียนการสอน ผลิตนักเรียน นักศึกษาศึกษาที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์และตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ทั้งการปรับหลักสูตรการจัดระบบการเรียนการสอนระบบทวิภาคีเข้มข้น ให้นักเรียน นักศึกษา มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ นั่นคือสิ่งที่มุ่งมั่นของ สอศ. และพร้อมเดินหน้าต่อไปในปีที่ 84 อย่างมุ่งมั่น ขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ “เรียนดี มีความสุข” มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ และในส่วนที่ดำเนินการแล้ว ก็ปรับปรุง พัฒนา ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจุบัน ดึงผู้เรียนที่จบไปแล้วกลับเข้าสู่ระบบ UpSkill และ ReSkill และผลิตตรงตามสมรรถนะให้พอเพียงต่อความต้องการ เพิ่มนักเรียน นักศึกษา ในการเรียนสายอาชีพทั้งในระบบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ ปริญญาตรี สร้างอาชีพและจัดหลักสูตรระยะสั้นให้กับประชาชน สิ่งสำคัญของอาชีวะนอกจากพัฒนาหลักสูตรสมัยใหม่ ต้องเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ให้นักเรียน นักศึกษาด้วย ซึ่งจะเห็นในภาพของศูนย์อาชีวะจิตอาสาช่วยประชาชน ในการให้บริการประชาชน

โดยนักศึกษาได้นำความรู้ ความสามารถมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จะเห็นน้อง ๆ ได้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ หรือแม้แต่ในช่วงเกิดวิกฤตต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม พี่น้องนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ก็จะเข้าไปดูแลช่วยเหลือ สิ่งที่น้อง ๆ อาชีวะได้รับคือมีทักษะทางวิชาการและทักษะวิชาชีพ และที่สำคัญจะได้ทักษะชีวิต สร้างความเป็นจิตอาสาต่าง ๆ และสร้างคุณธรรมให้กับนักศึกษา อันนี้คือเป้าหมายของ สอศ. และในปีการศึกษานี้ มีผู้เข้าเรียนเทียบสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2566 เพิ่มขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเรียนสายอาชีวศึกษา ซึ่ง สอศ. คือ หน่วยงานผลิตบุคลากรที่มีทักษะ สมรรถนะ ทั้งเป็นผู้ประกอบการ และผลิตกำลังคนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เชื่อมั่นได้ว่า นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ผ่านการฝึกฝนจากการเรียนทั้งในห้องปฏิบัติการ จากในสถานการณ์จริง หรือการเรียนในสถานประกอบการ จะเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศก้าวหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า และอีกเรื่องที่น่ายินดีในวันนี้ คือ การแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการครั้งแรกในสถาบันการอาชีวศึกษา นับตั้งแต่ปี 2556 สถาบันการอาชีวศึกษา และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรี ตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีทักษะปฏิบัติสมรรถนะสูง ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน โดยการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการอาชีวศึกษา เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ก.ค.ศ. ที่ประกาศ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 มีผู้ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้น 50 ราย ประกอบด้วย ตำแหน่งอาจารย์ 4 ราย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 40 ราย และรองศาสตราจารย์ 6 ราย ซึ่ง สอศ. ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเคร่งครัดและโปร่งใส โดยมีคณะกรรมการพิจารณาผลงานทางวิชาการ ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ทั้งสิ้น 6 ท่าน และมีประธานกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (กพว.) คือ ศาสตราจารย์ (ญาณวิทย์) อลงกลด แทนออมทอง ผู้ซึ่งมากประสบการณ์ และเป็นประธาน กพว. ในหลายมหาวิทยาลัย ชั้นนำของประเทศ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา และการวิจัยในสายอาชีวศึกษา ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ และส่งเสริมนวัตกรรมในภาคการผลิตและบริการของประเทศ การมีตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการอาชีวศึกษาจะส่งผลดีในหลายด้าน ทั้งการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การวิจัยเชิงประยุกต์ และการสร้างความเชื่อมันในมาตรฐานการศึกษาสายอาชีพต่อไป 

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 204 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน