มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 280 ครั้ง
บอร์ดคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ไฟเขียวแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมของประเทศไทยสู่ระดับสากล มุ่งใช้ทุนทางวัฒนธรรมส่งเสริม Soft Power – ชู 4 ยุทธศาสตร์ เน้นสร้างคน-ระบบนิเวศสร้างสรรค์ – เสน่ห์ไทย ผลักดัน “แบรนด์ประเทศไทย” ให้เป็นที่ชื่นชอบ ชื่นชมและเชื่อถือทั่วโลก
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมของประเทศไทยสู่ระดับสากล (พ.ศ. 2567 – 2570) สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ตามยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และการจัดตั้ง Thailand Creative Content Agency (THACCA) สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จึงจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมฉบับดังกล่าว โดยร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาและวิเคราะห์การดำเนินงานในภาพรวมของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับเศรษฐกิจวัฒนธรรม ทั้งบริบทการดำเนินงานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและสถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศและจุดยืนของประเทศไทยในมิติเศรษฐกิจวัฒนธรรมในระดับสากล เพื่อสังเคราะห์ธีม (Theme) ในการนำเสนอประเทศไทยอย่างลุ่มลึก หลากหลาย และสร้างแรงดึงดูดที่มีพลังมากยิ่งขึ้น
คณะผู้จัดทำ (ร่าง) แผนได้ศึกษาวิจัยโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ผ่านมุมมองของชาวต่างชาติ จากการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมายทั่วโลกกว่า 3,600 ตัวอย่าง รวมถึงสิ่งที่ชาวต่างชาติคาดหวังจากประเทศไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด พบว่า ไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆที่ต่างชาติต้องการเข้ามาท่องเที่ยวและเป็นประเทศที่สร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ เกิดความรู้สึกที่ดีและอยากกลับมาประเทศไทยอีก และเป็นประเทศที่มีขนบธรรมเนียมและศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจและต้องการสัมผัส รู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้งและต้องการเข้าใจแนวคิด ความเชื่อแบบไทย ๆ ผ่านสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่มีอัตลักษณ์และมีคุณค่าสากล จากการศึกษาวิจัยได้นำข้อมูลมาประมวลผลวิเคราะห์จุดยืนของประเทศไทยในการขับเคลื่อน Soft Power (Thailand’s Soft Power Positioning) หรือการสร้างอัตลักษณ์ด้าน Soft Power ของประเทศไทย (Nation Branding) เพื่อให้เกิดการจดจำในสายตาของประชาคมโลกและสร้างความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์และบริการของประเทศ” รมว.วธ. กล่าว
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า สาระสำคัญของ (ร่าง) แผนฉบับดังกล่าว ได้กำหนดวิสัยทัศน์คือ “แบรนด์ประเทศไทย” เป็นที่ชื่นชอบ ชื่นชมและเชื่อถือทั่วทุกมุมโลก และมีวัตถุประสงค์คือขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรมของประเทศไทยสู่ระดับสากลด้วยการสร้างและส่งเสริม ดังนี้ 1.ระบบนิเวศบนฐานการประสานพลัง ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติในอนาคต 2.สังคมยั่งยืน มั่นคงและเอื้อต่อศักยภาพอันหลากหลายของผู้คน 3.เศรษฐกิจเติบโตด้วยมูลค่าเพิ่มจากฐานภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ และ 4.ประเทศไทยมีบทบาท สถานะ และจุดยืนที่เข้มแข็ง และโดดเด่นบนเวทีโลก นอกจากนี้ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 3 ประการ ประกอบด้วย1.ทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทยได้รับการรักษา พัฒนา และต่อยอดอย่างยั่งยืน 2.เศรษฐกิจวัฒนธรรมของไทยเติบโตเพิ่มขึ้น และ 3.บทบาทและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในเวทีโลกได้รับการยกระดับด้วยเศรษฐกิจวัฒนธรรม ที่สำคัญยังได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน 4 ประเด็น ดังนี้ 1.เสริมสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของแบรนด์ประเทศไทย 2.เตรียมความพร้อมให้ “คน” มีบทบาทหลักในการพลิกโฉมเศรษฐกิจวัฒนธรรม 3.ยกระดับความเชื่อมั่นของตลาดโลกต่อคุณภาพและคุณค่าของสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมของประเทศไทย และ 4.ยกระดับแบรนด์ประเทศไทยให้โดดเด่นเป็นที่ยอมรับอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ วธ.ได้นำ (ร่าง) แผนฯ เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน บุคคล คณะกรรมการ และอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องมาแล้วจำนวน 9 ครั้ง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่สำคัญได้นำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมารับทราบแล้ว ทั้งนี้ (ร่าง) แผนฉบับดังกล่าว นับว่าเป็นการย้ำชัดให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ถึงความพร้อมของประเทศไทยในการยกระดับศักยภาพของประเทศสู่สนามแข่งระดับสากลและนับเป็นแผนแกนกลางของประเทศ ในการใช้ทุนทางวัฒนธรรมขับเคลื่อน Soft Power อย่างชัดเจนและมีบูรณาการสร้างอัตลักษณ์ใหม่สู่แบรนด์ประเทศไทยที่โดดเด่นเป็นที่ชื่นชอบและชื่นชมของผู้คนทั่วโลก ที่สำคัญ (ร่าง) แผนฉบับดังกล่าวไม่เพียงมุ่งสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนอย่างเห็นผลเท่านั้น แต่ยังสะท้อนนัยแห่งความจำเป็นในการสร้างทัศนวิสัยใหม่ให้กับผู้คนทั่วโลก เรียกร้องให้หันมองประเทศไทยในมุมใหม่ ผ่านการต่อยอดศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า สู่สินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่มีคุณภาพสู่สายตาประชาคมโลกอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนหลังจากนี้ นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการดังกล่าวเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนและแนวทางการเสนอแผนระดับ 3 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 280 ครั้ง