สตง. เผย ผลตรวจจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจฯ อปท.ชายแดนใต้ พบไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 212 ครั้ง

สตง. แถลงผลการตรวจสอบกรณีจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจฯ ของ อปท. ในจังหวัดนราธิวาส พบไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเสนอขอรับจัดสรรและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 15 (จังหวัดสงขลา) (สตภ.15) ได้ตรวจสอบการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างโครงการ ที่ได้รับการจัดสรรบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจตามแผนยุทธศาสตร์กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น (อปท.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และ 2567 ของ อปท. ในจังหวัดนราธิวาส ผลการตรวจสอบพบว่ามีการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจฯ จำนวน 4 รายการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 259 ล้านบาท ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณตามที่กำหนดและอาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐ ดังนี้

1. งานจัดซื้อครุภัณฑ์ติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) มีการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 8โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 79.77 ล้านบาท โดยจากการตรวจสอบเอกสารการจัดทำประมาณราคากลางของแต่ละโครงการปรากฏว่า มีการกำหนดรายการวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงซ้ำซ้อนกันบางรายการ เช่น ค่าแรงติดตั้งสายเคเบิลใยแก้วนำแสง Accessory ค่าอุปกรณ์ประกอบการติดตั้ง ฯลฯ ทำให้ราคากลางสูงกว่าความเป็นจริง ภายหลังจากที่ สตง. เข้าตรวจสอบ อปท. ที่ได้รับงบประมาณจึงได้ยกเลิกราคากลางดังกล่าว และได้มีการจัดทำราคากลางใหม่โดยให้ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมเป็นกรรมการจัดทำราคากลาง ส่งผลให้ราคากลางปรับลดลงประมาณ ร้อยละ 14-16ของวงเงินงบประมาณแต่ละโครงการ หรือคิดเป็นจำนวนเงินที่ลดลง 11.20 ล้านบาท – 12.80 ล้านบาท

2. งานจัดจ้างก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมถนนท้องถิ่น มีการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณโครงการก่อสร้างถนนผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต ชั้นพื้นทางดินซีเมนต์ผสมน้ำยาโพลีเมอร์ จำนวน 13โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 94.12 ล้านบาท จากการสุ่มตรวจสอบโครงการก่อสร้างถนนผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีตฯ ของ อบต. แห่งหนึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่า มีค่าก่อสร้างสูงกว่างานก่อสร้างถนนแอสฟัลต์คอนกรีตแบบทั่วไปประมาณ 3 เท่า แต่ไม่ปรากฏผลการทดสอบหรือการรับรองคุณภาพของงาน ก่อสร้างถนนผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต ชั้นพื้นทางดินซีเมนต์ผสมน้ำยาโพลีเมอร์ดังกล่าว จึงเห็นว่าการดำเนินโครงการอาจจะไม่คุ้มค่า อีกทั้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือแจ้งยกเลิกแบบมาตรฐานถนนผิวจราจรดินซีเมนต์ผสมน้ำยาโพลีเมอร์ ตั้งปี พ.ศ. 2564 แสดงให้ว่าโครงการก่อสร้างถนนผิวจราจรแอสฟัลต์คอนกรีต ชั้นพื้นทางดินซีเมนต์ผสมน้ำยาโพลีเมอร์ดังกล่าวยังไม่มีมาตรฐานรองรับ โดยในระหว่างการตรวจสอบของ สตภ.15 ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับ จัดสรรงบประมาณทบทวนค่าระดับของถนนในการจัดทำแบบรูปรายการ ราคากลาง และการควบคุมงาน ก่อสร้างให้เป็นไปโดยถูกต้องและให้มีการถ่ายภาพการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนโดยละเอียด ซึ่งจะส่งผลให้สามารถปรับลดงบประมาณค่าก่อสร้างลงได้ประมาณ 1 ล้านบาท/โครงการ

3. รายการเงินอุดหนุนสำหรับก่อสร้าง ปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำท้องถิ่น มี อปท. ที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (งบเหลือจ่าย) จำนวน 3 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 24.64 ล้านบาท จากการตรวจสอบปรากฏพยานหลักฐานว่า มีกลุ่มบุคคลที่น่าเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งได้ชักชวนให้นำโครงการขุดลอกแหล่งน้ำที่ได้รับถ่ายโอนมาจากกรมทรัพยากรน้ำมาเสนอขอรับงบประมาณขุดลอก และได้ขอเบิกงบประมาณไปโดยไม่ได้ดำเนินการขุดลอกจริง หรือบางโครงการอาจมีการขุดลอกเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยไม่เกินร้อยละ 10 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับ ทั้งนี้จากการเข้าตรวจสอบโครงการขุดลอกที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว ณ วันที่ 29 เมษายน 2567 จำนวน 3โครงการ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ปริมาณงานส่วนใหญ่ที่ขุดลอกจริงไม่เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญาจ้าง แต่รายงานการควบคุมงานระบุว่าการก่อสร้างครบถ้วนตามแบบรูปรายการและมีการส่งมอบงานจ้าง โดยคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับงานทั้ง 3 โครงการ และมีการเบิกจ่ายเงินแล้ว 2 โครงการ สตภ.15 จึงได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนการเบิกจ่ายเงินที่เหลืออีก 1 โครงการ ซึ่งต่อมาหน่วยรับตรวจได้มีการขอยกเลิกการเบิกจ่ายเงินค่าจ้าง 1 โครงการ วงเงิน 9.91 ล้านบาท เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567

4. เงินอุดหนุนสำหรับดำเนินการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวด้วยการจัดซื้อติดตั้งชุดเสาไฟถนน โคมไฟแอลอีดี พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาเซลล์) แบบประกอบในชุดเดียวกัน ตามบัญชีนวัตกรรมไทย มีการเสนอขอรับงบประมาณ จำนวน 6 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้น 59.67 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่า การกำหนดจุดติดตั้งเสาไฟข้างถนนซอยหรือสายทางขนาดเล็ก ซึ่งพื้นที่สองข้างทางส่วนใหญ่เป็นสวนยางพารา สวนผลไม้ และสวนปาล์มน้ำมันที่มีร่มเงา ทำให้แสงแดดส่องถึงบริเวณที่ติดตั้งเสาไฟได้เป็นเวลาสั้น ๆหรือไม่สามารถส่องถึงได้ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความเสียหายจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเสาไฟที่ติด ตั้งอยู่บริเวณที่แสงแดดไม่สามารถส่องถึงได้ อีกทั้งยังพบว่าผู้ประกอบการบางรายได้ขนย้ายเสาไฟฟ้าและวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับโครงการดังกล่าวไปไว้ในพื้นที่ก่อสร้างของ อปท. ในช่วงเวลาก่อนที่ อปท. เจ้าของงบประมาณโครงการดังกล่าวจะดำเนินการจัดทำประมาณการราคากลางและจัดหู้รับจ้าง และต่อมาปรากฏ ข้อมูลว่าผู้ประกอบการรายดังกล่าวได้เป็นผู้ชนะการเสนอราคาขายและติดตั้งเสาไฟฟ้า โดยต่อมา สตภ.15 ได้จัดทำรายงานการตรวจสอบเชิงป้องกัน เรื่อง การจัดซื้อติดตั้งชุดเสาไฟฟ้าถนนโคมไฟแอลอีดี พลังงานแสงอาทิตย์ แบบประกอบในชุดเดียวกัน ตามบัญชีนวัตกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2566 – 2567 และได้แจ้งผลการตรวจสอบไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ส่งผลให้ อบต. 4 แห่ง ที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว ได้ยกเลิกการดำเนินโครงการ รวมเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 40 ล้านบาท

“จากการตรวจสอบปรากฏข้อมูลน่าเชื่อว่ามีกระบวนการร่วมกันในการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณและพิจารณาอนุมัติงบประมาณอุดหนุนเฉพาะกิจฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และ 2567ให้ อปท. ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 4 โครงการดังกล่าว ในลักษณะที่อาจไม่บรรลุวัตถุประสงค์หรืออาจ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐ อาทิ ผู้มีอำนาจในการอนุมัติงบประมาณในขั้นตอนต่าง ๆ ร่วมกันเสนอและพิจารณาอนุมัติงบประมาณโดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ ก่อสร้าง หรือระเบียบแบบแผนของทางราชการ หรือความจำเป็นคุ้มค่าของโครงการ มีการจัดทำราคากลางของงานซื้อหรือ จ้างที่สูงเกินจริงและมีการจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการที่ได้ตกลงกันไว้แล้ว รวมถึงมีผู้ประกอบการบางรายรับหน้าที่เป็นผู้รับจ้างของโครงการและขอเบิกจ่ายเงินค่าจ้างโดยไม่ได้มีการปฏิบัติงานจริง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการสรุปสำนวนรายงานการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเอกสารคำขอจัดสรรงบประมาณเงิน อุดหนุนเฉพาะกิจฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (องค์การบริหารส่วนตำบล) ยังปรากฏข้อมูลการ จัดสรรงบประมาณของทั้ง 4 โครงการดังกล่าวให้กับ อบต. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมจำนวน 1,980 ล้านบาท โดยมีพฤติการณ์ในการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณเป็นไปในลักษณะเดียวกับการเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และ 2567 ซึ่ง สตภ.15 และสำนักตรวจเงินแผ่นดิน จังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบจะได้ติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 อย่างใกล้ชิดต่อไป” โฆษกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 212 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน