มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 262 ครั้ง
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 24 ต.ค.67 ที่ห้องประชุม 8.1 อาคารเจษฎาบดินทร์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า และ เรือนจำจังหวัดนนทบุรี โดยมี แพทย์หญิงนิชาภา สวัสติกานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งกล้า และ นายกลยุทธ พานาสันต์ ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนนทบุรี ร่วมลงนาม พร้อมด้วย นายอภิชาต พิมลไพบูลย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และ นายธนบูรณ์ จันทรมาลัย ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง ร่วมเป็นพยานในพิธีดังกล่าว
โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจ ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของจังหวัดนนทบุรี มีมาตรฐานการรักษาและการให้บริการประชาชนที่เป็นเลิศ และ เรือนจำจังหวัดนนทบุรี ที่มีภารกิจด้านการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังที่มีความโดดเด่น ซึ่งเป็นการพัฒนาพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ผ่านการดำเนินงานฝึกวิชาชีพ โดยมีภาคีเครือข่ายจากภาคเอกชน เข้าร่วมและให้การสนับสนุน เพื่อสร้างคุณค่าและสร้างโอกาส ให้แก่ผู้ที่ก้าวพลาดได้กลับไปเป็นบุคคลที่สังคมต้องการอีกครั้ง
ในปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์ มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนภารกิจการพัฒนาผู้ต้องขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการพัฒนาพฤตินิสัย การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย และการพัฒนาการทำงานของผู้ก้าวพลาด เพื่อขับเคลื่อนนโยบายตามภารกิจของหน่วยงานระหว่างกัน ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาผู้ก้าวพลาด ในช่วงระยะเวลาสุดท้ายก่อนปล่อยตัวพ้นโทษ อีกทั้ง โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ยังเป็นองค์กรหลักที่ช่วยขับเคลื่อนภารกิจให้กรมราชทัณฑ์ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์การคืนคนดีสู่สังคม จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่เรือนจำจังหวัดนนทบุรี จะได้เข้ามามีส่วนช่วยเหลือในภารกิจของโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า เพื่อร่วมขับเคลื่อนการยกระดับการให้บริการของสถานพยาบาล โดยมีเป้าหมายสำคัญให้ผู้ก้าวพลาดได้รู้จักการทำความดีเพื่อตอบแทนสังคม มีภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิต ด้วยการดำเนินงานฝึกวิชาชีพอย่างเป็นระบบ ไม่เพียงแต่การมุ่งหวังให้ผู้ต้องขังมีทักษะ ในการฝึกวิชาชีพ จนมีความเชี่ยวชาญเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าจากตัวตนของผู้ต้องขัง ด้วยการพัฒนากระบวนการทางความคิด การฝึกวิเคราะห์ในสถานการณ์ต่าง ๆ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และการพัฒนาทางอารมณ์ที่ทำให้ผู้ต้องขังรู้จักผิดชอบชั่วดี มีภูมิต้านเมื่ออยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะช่วยให้ผู้พ้นโทษกลับเข้าสู่สังคมโดยปกติสุขภายหลังพ้นโทษต่อไป
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 262 ครั้ง