THAILAND & CHINA 2025 มิติสัมพันธ์ไทย-จีนก้าวสู่อนาคตแบบ “วิน วิน”

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 118 ครั้ง

จีนคือคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ขณะที่ประเทศไทยคือคู่ค้าอันดับ 14 ของจีน และนักลงทุนจีนยังมุ่งหน้าเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง คาถามคือรัฐบาลไทยจะบริหารจัดการด้านการค้า-การลงทุนกับจีนอย่างไร ให้คนไทยและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุด โดยยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีน

ในปีที่ 50 แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต สมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน จัดงานสัมมนา “THAILAND & CHINA 2025 ไทย-จีน มิติสัมพันธ์อนาคตร่วมกัน เพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 50 แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ส่งเสริมการสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ต่อยอดทางด้านสังคม เศรษฐกิจ เพื่อให้ผู้ร่วมสัมมนาได้ทราบถึงนโยบายทิศทางของประเทศไทยและจีนที่จะเดินเคียงข้างกันบนเส้นทางเดียวกันสู่อนาคตอันสันติสุขและสดใส

นายพงศกร อรรณนพพร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเปิดงานและ ปาฐกถาพิเศษ “การค้าไทย-จีน บนหลักมิตรภาพ มาตรฐาน เท่าเทียม เป็นธรรม” ว่า ไทย-จีนเหมือนบ้านพี่เมืองน้อง แยกกันไม่ออก ประเพณีวัฒนธรรมไม่มีข้อแตกต่าง เราควรต้องยอมรับว่าจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และเราต้องพึ่งพาจีนอย่างมาก นอกจากเราจะส่งออกผลไม้ไปขายในจีนมากที่สุดแล้ว เรายังขายมันสำปะหลังให้จีนมากถึง 90% แม้ 10 เดือนแรกปี 2567 (ม.ค.-ต.ค.) เราจะขาดดุลให้จีน 1.3 ล้านล้านบาท ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะกระแสการบริโภคสินค้าจีนของคนไทยมีมากขึ้น เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบสินค้านำเข้า เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการไทย รวมถึงการจัดการกลุ่มนอมินีอย่างเด็ดขาด ในขณะเดียวกันก็พยายามเจรจากับฝ่ายจีน ทำข้อตกลงกับเมืองรองต่าง ๆ ของจีน เปิดโอกาสให้สินค้าไทยเข้าไปขายมากขึ้น ผ่านระบบออนไลน์และออฟไลน์ บนหลักการมิตรภาพเท่าเทียมและเป็นธรรรม เพื่อสร้างโอกาสและความสำเร็จร่วมกันของประชาชนทั้งสองประเทศ

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ บรรยายพิเศษ “พัฒนาการและอิทธิพลของทุนและสินค้าจีนในตลาดโลก” ฉายภาพเศรษฐกิจจีนที่โตรวดเร็วมาก ในปี 1878-1879 เติ้งเสี่ยวผิง ดำเนินนโยบายเปิดประเทศ จีดีพีของสหรัฐอเมริกาใหญ่กว่าจีน 15 เท่า ผ่านมาแค่ 4 ทศวรรษ เศรษฐกิจจีนไล่จี้อเมริกา จีดีพีจีนโตถึง 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ของอเมริกา 25 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2001-2002 จีนเริ่มเข้า WTO จีดีพีญี่ปุ่นใหญ่กว่าจีน 4 เท่า ปัจจุบันจีดีพีจีนใหญ่กว่าญี่ปุ่น 4 เท่า และหากนำจีดีพีประเทศเอเชีย 30 ประเทศมารวมกัน ขนาดจีดีพีรวมกันแค่ 16.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ น้อยกว่าจีนประเทศเดียว

ขณะที่การลงทุนของจีนในต่างประเทศ ปี 2002 ประมาณ 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ 5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยการลงทุนของจีนในต่างประเทศเกิน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี การลงทุนสะสม 2 ทศวรรษ 2.75 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จำนวนบริษัทจีนลงทุนในต่างประเทศ 4.7 หมื่นบริษัท ใน 190 ประเทศ ขณะที่การลงทุนผ่านโครงการ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง 1.6 หมื่นบริษัท หรือ 1 ใน 3 ของบริษัทจีนที่ลงทุนทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก แต่ในช่วงที่ผ่านมาจีนพึ่งพาสินค้าอุตสาหกรรมมากถึง 40%  ในขณะที่อเมริกาพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมเพียง 18 เปอร์เซ็นต์ โดยหันไปเน้นการส่งออกภาคบริการ เช่น บริการของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เมื่อเกิดสงครามการค้า จีนจึงได้รับผลกระทบพอสมควร ปัจจุบันจีนจึงพยายามลดการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรม หันไปสนับสนุนสินค้าบริการมากขึ้น เช่น การให้บริการแพลตฟอร์ม การท่องเที่ยว เฮลท์แคร์ ผลิตหนัง-ละคร ส่งออกไปขายทั่วโลก ทำให้ไทยต้องเตรียมปรับตัวเพื่อหันมาสร้างงานบริการค้าขายกับจีนมากขึ้น

ในช่วงเสวนา “มิติสัมพันธ์ไทย-จีน ในปี 2025” ดำเนินรายการโดย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน นำเสนอมุมมองของผู้เกี่ยวข้อง เริ่มจาก พล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สะท้อนมุมมองด้านมิติความมั่นคงว่า การเข้ามาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ จะช่วยลดวิกฤตสงครามให้เบางบางลง ไม่รุนแรงเหมือนในช่วงที่ไบเดนดำรงตำแหน่ง ขณะที่อาเซียนมีความเป็นปึกแผ่น ด้วยนโยบายไม่แทรกแซงกิจการของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไทยมีจุดเด่นคือการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอเมริกาได้อย่างสมดุล กลายเป็นจุดเชื่อมต่อของทั้งสองประเทศไปในตัว จีนรักไทย ในขณะที่อเมริกาก็ไม่กล้าทิ้งไทย

นายประสงค์ เอาฬาร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวถึงพารวมการค้าไทย-จีน ไม่อยากให้คนไทยมีอคติกับจีน เช่น พอเศรษฐกิจไม่ดีเรามักมองว่าจีนเป็นต้นเหตุ หรือการที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีน เราก็มองว่าเป็นเพราะสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาด ซึ่งเป็นเพียงมิติเดียว อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทย-จีน ไม่ได้นิ่งดูดายในเรื่องดังกล่าว ได้ร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมการค้าวิสาหกิจจีน จัดตั้ง “กลไกประสานงานและส่งเสริมธุรกิจไทย-จีนยั่งยืน” มีเป้าหมายในการสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนไทยและจีน ร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเศรษฐกิจและการค้าที่เชื่อถือได้ ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสังคมไทยต่อความสัมพันธ์ไทย-จีน และก่อให้เกิดความแน่นแฟ้นต่อกัน

ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากจีน เมื่อไปดูข้อมูลก็พบว่าการขาดดุล 1.4 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ เพราะว่าสินค้านำเข้าส่วนใหญ่ เป็นวัตถุดิบมาผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปขายในต่างประเทศอีกที โดยข้อมูลการนำเข้าสินค้า 5 อันดับแรกจากจีนคือ 1.สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป 36.86% 2.สินค้าทุน 37.10% 3.สินค้าอุปโภคบริโภค 18.29% 4.ยานยนต์และอุปกรณ์การขนส่ง 4.78% และ 5.อาวุธยุทธปัจจัยและสินค้าอื่น ๆ 2.62% นอกจากนี้ กฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศก็ระบุว่า การส่งสินค้าที่ผลิตจากไทยไปขายในต่างประเทศ ต้องมีส่วนผสมของวัตถุดิบในเมืองไทยไม่น้อยกว่า 40% รวมถึงไทยยังมีรายได้จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งไม่ใช่ทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่ใช้จ่าย 5-6 หมื่นบาท/คน/ทริป จึงอยากให้สร้างความเข้าในที่ดีต่อกัน เพื่อสร้างอนาคตการค้ายุคใหม่ในปี 2025 ที่จะสดใสมากกว่าเดิม

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวถึงปัญหาสงครามการค้า ภายใต้การบริหารงานของโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ง่ายนัก เพราะปัจจุบันจีนมีพันธมิตรทั่วโลก ถ้าอเมริกาบีบจีนมาก ๆ จีนก็จะหันไปค้ายขายกับประเทศอื่นแทน เหมือนกับสงครามการค้ายุค 1.0 ที่จะว่าไปแล้วเศรษฐกิจของสหรัฐเสียหายมากกว่าจีนด้วยซ้ำ ที่สำคัญถ้าสหรัฐใช้มาตรการภาษีเต็มรูปแบบ ชาวอเมริกันก็จะต้องบริโภคสินค้านำเข้าจากจีนในราคาแพงขึ้น เกิดปัญหาเงินเฟ้อ และถ้าจีนตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีเช่นเดียวกัน ก็จะทำให้สินค้าจากสหรัฐเข้าไปขายในจีนได้น้อยลง หากสหรัฐดำเนินนโยบายดังกล่าว 4 ปีนับจากนี้จะทำให้อเมริกามีเพื่อนน้อยลงและถูกโดดเดี่ยวมากขึ้น ในขณะที่ไทยต้องใช้โอกาสจากการเป็นบ้านใกล้เรือนเคียง หาช่องทางค้าขายกับจีนให้มากขึ้น

ปิดท้ายด้วย นายหวัง คุน ประธานบริหาร บริษัท เจ้อเจียง จูเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์ คอนซัลติ้ง จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์แบรนด์ ไทยอร่อย สินค้าไทยในจีน กล่าวว่า ไม่ว่าสถานการณ์ในโลกจะเป็นอย่างไร อาหารไทยก็ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน คนจีนอยากทำมาค้าขายกับคนไทย ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการทั้งสองประเทศ คือผู้ประกอบการจีนมีสินค้าไทยไปขายให้คนจีน ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็มีตลาดส่งออกมากขึ้น อย่าง ไทยอร่อย พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นที่ชื่นชอบของชาวจีน ทุเรียน-ข้าวหอมมะลิ เป็นสินค้ายอดนิยมที่ไม่มีชาติไหนสู้ได้ และผมอยากฝากบอกผู้ประกอบการไทยหรือคนไทย ถ้าคิดว่ามีผลิตภัณฑ์อาหารอร่อย อยากส่งไปขายในจีน ติดต่อผ่านทางสมาคมสื่อมวลชนไทย-จีนก็ได้ ผมพร้อมเข้ามาเจรจาและอาจได้ทำการค้าร่วมกันในอนาคต   

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 118 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน