“ราชทัณฑ์” จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาการจัดการศึกษาผู้ต้องขังในเรือนจำต้นแบบ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 239 ครั้ง

วันนี้ (18 ธ.ค.67) ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จ.นนทบุรี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาการจัดการศึกษาผู้ต้องขังในเรือนจำต้นแบบ โดยมี นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นางจิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม คณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ คณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “หากจะวัดความเจริญรุ่งเรืองของประเทศให้วัดที่คุณภาพของคน ไม่ใช่วัดที่ความใหญ่ของประเทศ คุณภาพของคนเป็นเรื่องความมั่นคงที่แท้จริง เราดูคุณภาพของคนจากการศึกษา เพราะการศึกษา คือ การเปลี่ยนแปลงมนุษย์ และเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น การศึกษาของผู้ต้องขังเองก็เช่นกัน ในครั้งนี้ถือเป็นวาระที่ดีที่เราจะเติมคนที่มีคุณภาพให้กับสังคมและประเทศชาติ และจะต้องมีสิ่งที่ยืนยืนได้ว่า เมื่อปล่อยผู้ต้องขังออกไปแล้วมีคุณภาพ มีการศึกษา และมีโอกาสในการใช้ชีวิตในสังคม ตามกฎหมายราชทัณฑ์ เรือนจำต้องให้ผู้ต้องขังได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ วุฒิ ม.6 หรือ ปวช. และต้องทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับกระทรวงศึกษา และบังคับให้ต้องฝึกอบรมด้านคุณธรรม จริยธรรมด้วย ตัวผมเองอยากเป็นผู้ให้ และเป็นผู้ให้ที่ไม่ได้หวังผลตอบแทน และไม่ได้ให้แก่พวกท่านอย่างเดียว แต่อยากให้กับสังคมด้วย อยากให้คนมีคุณภาพ โครงการนี้เป็นสิ่งที่ล้ำค่าและมีประโยชน์ หวังว่าการพัฒนาการศึกษาในเรือนจำต้นแบบจะสำเร็จไปด้วยดี และเป็นของขวัญให้ประเทศไทยต่อไป”

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 นายสหการณ์ เพร็ชนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้กำหนดนโยบาย 8 มิติ ยกกำลังสอง ขึ้น โดยมิติที่ 5 ว่าด้วยการพัฒนาและต่อยอดการศึกษา การฝึกวิชาชีพ ที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งเป็นการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางเลือก ให้มีความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละเรือนจำ เนื่องจากปัจจุบันรูปแบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขัง จะมีกำหนดระยะเวลาการรับสมัครและระยะเวลาการเรียน เป็นไปตามที่หน่วยงานการศึกษากำหนด จึงไม่มีความยืดหยุ่น และไม่สอดคล้องกับกิจวัตรประจำวันของผู้ต้องขัง เพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายด้านการจัดการศึกษา กรมราชทัณฑ์ จึงได้ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายคือสนับสนุนผู้ที่พลาดโอกาสทางการศึกษา พัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาผู้ต้องขัง ตลอดจนพัฒนาคุณภาพประสิทธิภาพครูผู้สอน และ โดยได้กำหนดให้เรือนจำ 13 แห่ง จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นเรือนจำต้นแบบการศึกษา ได้แก่ 1) เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา 2) เรือนจำกลางเชียงราย 3) เรือนจำกลางอุดรธานี 4) เรือนจำจังหวัดศรีสะเกษ 5) ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา 6) ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง 7) เรือนจำจังหวัดนราธิวาส 8) เรือนจำกลางปัตตานี 9) เรือนจำกลางยะลา 10) เรือนจำอำเภอเบตง 11) เรือนจำกลางเขาบิน 12) ทัณฑสถานหญิงชลบุรี และ 13) เรือนจำอำเภอสีคิ้ว

สำหรับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็น ในการจัดทำรูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสม และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขัง ซึ่งผู้เข้าสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ประกอบด้วย ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง และหัวหน้าฝ่ายการศึกษา จากเรือนจำต้นแบบทั้ง 13 แห่ง โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการศึกษาจากภาคส่วนต่าง ๆ เป็นวิทยากร ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิตและประธานสาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.เนตรดาว ยั่งยุบล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นายศุภชัย ไตรไทยธีระ มูลนิธิปัญญากัลป์ และคณะ รวมถึงคณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภายในกระทรวงยุติธรรม และวิทยากรภายนอกอีกหลายท่าน

ในการนี้ กรมราชทัณฑ์ ขอขอบคุณ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและพัฒนาการจัดการศึกษาผู้ต้องขัง ให้ได้รับการพัฒนาทั้งด้านทักษะทางวิชาการ และทักษะทางวิชาชีพ ตลอดจนลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขังอย่างยั่งยืน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่านจะได้รับความรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ต้องขัง รวมทั้งสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมสัมมนาไปใช้ในการพัฒนาบริหารจัดการด้านการส่งเสริมการจัดการศึกษา ผ่านการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้สอดรับกับความต้องการและเหมาะสมกับผู้เรียนโดยตรงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อไป

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 239 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน