ศาลยุติธรรม จับมือ สวทช. พัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 106 ครั้ง

สำนักงานศาลยุติธรรม กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

วันนี้ (24 ธ.ค.67) เวลา 09.00 น. ที่ห้องชมวิว ชั้น 22 อาคารสำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ นายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับศาลยุติธรรม โดยมี นายภพ เอครพานิช รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย หน่วยวิจัยวิทยาการสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือกันในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติในด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมและบริการดิจิทัล ข้อมูล และปัญญาประดิษฐ์ และแผนยุทธศาสตร์ พ.ศ. 2565 – 2568 ยุทธศาสตร์ T เปลี่ยนผ่านสู่อนาคต (Transformation) ซึ่งมีเป้าหมายในการเสริมสร้างการอำนวยความยุติธรรมและการคุ้มครองสิทธิของประชาชนด้วยระบบดิจิทัล ผ่านการพัฒนาระบบการใช้เทคโนโลยีที่อาศัยปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ในศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมเพื่อสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีและบริการจัดการ

ทั้งนี้ ศาลยุติธรรม จะนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในหัวข้อเกี่ยวกับระบบช่วยร่างคำฟ้อง ระบบค้นหาและเข้าถึงข้อมูลในวิดีโอ ระบบถาม – ตอบข้อมูลของศาล ระบบถอดความการพิจารณาคดี onsite และ online ระบบแนะนำกระบวนการดำเนินการในศาล ระบบสืบค้นข้อมูลทางวิชาการผ่านระบบ RAG (Retrieval Augmented Generation) ระบบเปลี่ยนแปลงข้อมูลภาพให้เป็นตัวอักษร (Optical Chracter Recognition : OCR) และระบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อื่น ๆ สำหรับสนับสนุนภารกิจงานของศาลยุติธรรม นอกจากนี้การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ยังรวมถึงการร่วมกันสนับสนุนและจัดหาคลังข้อมูลเกี่ยวกับศาลยุติธรรมสำหรับการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่มีบทบาทในการเสริมประสิทธิภาพการทำงาน พร้อมสนับสนุนภารกิจและงานต่าง ๆ ของศาลยุติธรรม เพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลา การเชื่องโยงข้อมูล การสืบค้นข้อมูลคำสั่ง และคำพิพากษาของศาล ควบคู่ไปกับระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการให้บริการประชาชน

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 106 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน