ไปกันต่อ! กยท. ปั้นนวัตกรรุ่นใหม่ หยิบ 5 โครงการวิจัยสุดว้าว พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 152 ครั้ง

วันนี้ (20 ม.ค. 68) ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิซ คอนเวนชั่น โฮเทล จ.นนทบุรี การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยสถาบันวิจัยยาง (สวย.) เปิดเวทีโชว์ของ ปั้นนวัตกรรุ่นใหม่ ดัน 5 โครงการวิจัยที่ผ่านการคัดเลือก ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ภายใต้โครงการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ด้านยางพารา ชู เทคโนโลยี IOT หวังยกระดับอุตสาหกรรมยางในอนาคต

นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านบริหาร กล่าวขณะเป็นประธานเปิดกิจกรรมประกวดผลิตภัณฑ์ต้นแบบในโครงการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ด้านยางพาราว่า กยท. พร้อมผลักดันนักวิจัยรุ่นใหม่ ให้มีความรู้ความสามารถในการคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมด้านยางพารา เวทีนี้จะเป็นการจุดประกายให้นักคิด นักวิจัย ที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นนวัตกรรุ่นใหม่ มีโอกาสได้นำเสนอผลงานที่คิดค้นเป็นต้นแบบ (Prototype) ซึ่ง กยท. จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาชิ้นงานต้นแบบนั้น จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ปัญหา ความต้องการ และการนำไปใช้ประโยชน์ของเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงผู้ประกอบกิจการยาง เป็นการยกระดับและพัฒนาอาชีพการทำสวนยาง อีกทั้งยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ผ่านการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ส่งเสริมให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการยางพาราไทยแล้ว ยังสามารถขยายผลไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีกด้วย

“ฝากถึงนวัตกรรุ่นใหม่ ให้มีความพยายาม มุ่งมั่นในการคิดค้นงานวิจัย นำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อนำเอานวัตกรรมเหล่านี้ไปพัฒนาวงการยางพารา อันจะส่งผลไปสู่ความก้าวหน้าทั้งด้านการทำเกษตร จนถึงการแปรรูป ตลอดจนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศต่อไป” รองผู้ว่าการด้านบริหาร กล่าวทิ้งท้าย

ดร.กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กล่าวว่า กิจกรรมการประกวดผลิตภัณฑ์ต้นแบบในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมต่อเนื่องภายใต้โครงการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ด้านยางพารา ที่ได้มีการประกวดข้อเสนอโครงการวิจัยในหัวข้อ “IOT Smart Natural Rubber Hackathon” และมีทีมที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก จำนวน 5 ทีม ได้เข้ารอบสู่การประกวดผลิตภัณฑ์ต้นแบบผลงานวิจัยในครั้งนี้ โดย กยท. มุ่งหวังต่อยอดโครงการวิจัยให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หรือผลงานต้นแบบที่สามารถนำไปทดลองและต่อยอดได้จริง สามารถนำเทคโนโลยี IOT (Internet Of Things) เข้ามาเป็นเครื่องมือสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การเก็บเกี่ยว การผลิตไปจนถึงการแปรรูปยางพารา โดยหวังให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตยางในอนาคต ยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราสู่ยุค 4.0

สำหรับผลการตัดสิน ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Friendster ในผลงาน “RD Snap Application แพลตฟอร์มเพื่อความยั่งยืนในการใช้ AI เพื่อการพยากรณ์โรคใบร่วงในยางพารา รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Robodis กับผลงาน “Qualtex Vault : นวัตกรรม IOT ถังเก็บรักษาน้ำยางเพื่อรักษาคุณภาพ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Robomaniac 2 กับผลงานนวัตกรรม หุ่นยนต์เก็บน้ำยาง รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ ทีม Kuriot เจ้าของผลงาน ระบบจำแนกเกรดยางแผ่นรมควัน โดยใช้ IOT เป็นเครื่องมือร่วมกับ Image Processing” และทีม HW Surviver escape from web lab เจ้าของผลงาน พาราพยากรณ์ (ParaPredict)”

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 152 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน