รมว.ยุติธรรม เปิดเรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี (Hub) เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แยกผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี-เด็ดขาด

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 154 ครั้ง

วันนี้ (9 เม.ย.68) เวลา 10.30 น. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดเรือนจำนำร่องในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี โดยมี นางสาวนันทรัศมิ์ เทพดลไชย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายชาญ วชิรเดช รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายยุทธนา นาคเรืองศรี รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นางปรีดา วิสาโรจน์ รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายมานพ ชมชื่น ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณะกรรมการราชทัณฑ์ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมฯ

โดยภายในงาน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ Exclusive Talk เรื่อง “จัดตั้งเรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี (Hub)”

อีกทั้งมีการจัด Mini Talk เรื่อง “อิสรภาพที่หายไปก่อนการตัดสินสิทธิและโอกาสในการพิสูจน์ตนเองของชีวิตหลังกำแพง” พร้อมกับ นางสาวนันทรัศมิ์ เทพดลไชย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม นายมานพ ชมชื่น ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร คุณอัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช (เบนซ์ เรซซิ่ง) คุณพัฒนพล มินทะขิน (ดีเจแมน) และ คุณนพนันท์ ทองเคลือ (เอิร์น วัดใหญ่) ร่วมกันแบ่งปันความรู้ในประเด็นดังกล่าว

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเปิดเรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี (Hub) ในครั้งนี้ ว่า “ประเทศที่เจริญไม่ได้วัดที่ความยิ่งใหญ่ของประเทศ แต่วัดจากคุณภาพของคน ถ้าวัดจำนวนผู้กระทำความผิดในประเทศไทย จากจำนวนประชากร 100,000 คน จะพบว่าประเทศไทยมีผู้ต้องหามากที่สุดในเอเชียแปซิฟิกรองจากประเทศอเมริกา อย่างไรก็ตามอดีตถือเป็นบทเรียน แต่ปัจจุบันและอนาคตคือความรับผิดชอบ คนทุกคนล้วนเคยทำผิดพลาด โอกาสจึงเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขความผิดพลาด อย่างวันนี้ผมได้มีโอกาสมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผมจะใช้โอกาสในการพัฒนางานให้ได้มากที่สุด เช่นกันกับคนที่อยู่หลังกำแพง ผู้ต้องราชทัณฑ์ ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้ต้องการความสงสารแต่ต้องการโอกาส เพราะโอกาสคือสิทธิที่เขาควรได้รับในการปรับตัว ซึ่งนอกจากต้องปรับที่ผู้ต้องขังแล้วเรือนจำเองต้องเปลี่ยนด้วย ไม่ใช่เป็นแค่สถานที่ฟื้นฟูเพื่อพัฒนาพฤตินิสัยอย่างเดียว แต่ต้องเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ที่สร้างความปลอดภัย ความเจริญ และความมั่นคงได้ในระดับประเทศ ผมจึงขอให้สถานที่แห่งนี้เป็นเรือนจำนำร่องในการให้สิทธิ ให้ศักดิ์ศรีกับผู้ต้องขังระหว่าง ให้เขาได้มีสิทธิในการพบทนาย สิทธิในการรักษาพยาบาล และสิทธิที่พึงได้รับ”

“สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณอธิบดีกรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการราชทัณฑ์ ผู้บัญชา​การเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน และข้าราชการกรมราชทัณฑ์ทุกท่าน ที่ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้เกิดศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี (Hub) ขึ้นมา และต้องเร่งขับเคลื่อนให้เกิดเรือนจำระหว่างพิจารณาคดี (Hub) ให้ได้ในทุกแห่ง เพื่อให้สิทธิและโอกาสในการพิสูจน์ตนเอง และเกิดความเหมาะสมกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” รมว.ยุติธรรม กล่าว

สำหรับการเปิดเรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี (Hub) กระทรวงยุติธรรม ได้มีนโยบายให้กรมราชทัณฑ์ ปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีให้สอดคล้องกับหลักรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักการปฏิบัติของสากลเพื่อยกระดับของการปฏิบัติต่อบุคคลที่ตามกฎหมายแล้วถือว่ายังเป็นผู้บริสุทธิ์ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้สอดคล้องกับหลักสากลอันจะส่งผลต่อการฟื้นฟูหลักนิติธรรมของประเทศ สำหรับเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ถือเป็นเรือนจำต้นแบบในการแยกการปฏิบัติของผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีออกจากผู้ต้องขังเด็ดขาด ซึ่งนอกจากจะมีการแยกพื้นที่กันอย่างเด็ดขาดแล้ว ยังจะมีการนำโปรแกรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมมาใช้ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้ต้องขังในเรื่องของการให้ความรู้ทางกฎหมายเพื่อต่อสู้คดีการส่งเสริมความแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงการจัดสวัสดิการต่าง ๆ

โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งเรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี (Hub) ในเรือนจำที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดเดียวกัน โดยให้มี 1 เรือนจำ ทำหน้าที่ในการควบคุมผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ส่วนเรือนจำอื่นในจังหวัดให้ทำหน้าที่ควบคุมนักโทษขังเด็ดขาด ประกอบด้วย 8 กลุ่มจังหวัด ดังนี้ กลุ่มจังหวัดลำปาง กลุ่มจังหวัดพิษณุโลก กลุ่มจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กลุ่มจังหวัดขอนแก่น กลุ่มจังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มจังหวัดสงขลา กลุ่มจังหวัดปทุมธานี และ กลุ่มจังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้กำหนดเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเพื่อควบคุมผู้ต้องขังคดีทั่วไป และคดียาเสพติดให้โทษ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นสอบสวน – ไต่สวน พิจารณา และควบคุมผู้ต้องขังเด็ดขาดที่มีกำหนดโทษเหลือไม่เกิน 5 ปี ไม่เกินร้อยละ 20 ในอัตราส่วน 1.6 ตารางเมตรต่อผู้ต้องขัง 1 คน เพื่อทำงานสุขาภิบาลต่าง ๆ หรือภารกิจอื่นในเรือนจำ ในส่วนของการปฏิบัตินั้นได้จัดทำแนวทางการปฏิบัติขึ้นใหม่ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม ประกอบด้วย การปรับปรุงชุดของผู้ต้องขังสำหรับการไปศาล การให้ความรู้ทางกฎหมาย รวมถึงการพบปะกับบุคคลภายนอก โดยเฉพาะทนายความ การเยี่ยมญาติใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมคณะ และสื่อมวลชน เข้าดูพื้นที่จำแนก และควบคุมผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี เพื่อให้การปฎิบัติเป็นไปตามแนวทางปฎิบัติของเรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี (Hub) ด้วย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 154 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน