มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 86 ครั้ง
ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเต่าทะเล “นัองเต่าสีชัง” กลับคืนสู่ธรรมชาติ

วันนี้ (20 เม.ย.68) พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พร้อมด้วย พล.ร.ต.หญิง ดร.ทันตแพทย์หญิง จีระวัฒน์ กฤษณพันธ์ ว่องวิทย์ นายกสมาคมภริยาทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเต่าทะเล (น้องเต่าสีชัง) กลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยมี นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ พล.ร.ต.เอตม์ ยุวนางกูร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (ผบ.สอ.รฝ.) ร่วมพิธี ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

สำหรับความเป็นมาของ “น้องเต่าสีชัง” ที่ได้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในวันนี้ เป็นเต่าตนุเพศเมีย ชื่อสีชัง วัยประมาณ 30 – 35 ปี (สันนิษฐานจากร่องรอยการเจริญเติบโตของกระดอง) ได้รับบาดเจ็บจากการถูกใบพัดเรือฟันที่บริเวณหัว กระดองหน้า และหลัง ได้รับบาดเจ็บเกยตื้นอยู่ บริเวณ ชายหาดเกาะสีชัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จึงเป็นที่มาของชื่อ “สีชัง” โดยเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จ.ระยอง ได้ประสานให้เจ้าหน้าที่ และสัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลเต่าทะเล กองทัพเรือ รับเต่ามารักษาอาการบาดเจ็บ และได้ตั้งชื่อว่า “น้องเต่าสีชัง”

โดยขณะที่ เจ้าหน้าที่ของศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ ไปรับตัวมาตรวจรักษา “น้องเต่าสีชัง” มีน้ำหนักตัว 101.3 กิโลกรัม กระดองกว้าง 84 ซม. ยาว 96 ซม. ที่บริเวณหัว กระดองหน้า กระดองส่วนท้ายแตก เพราะถูกใบพัดเรือฟัน มีบาดแผลฉกรรจ์ ซึ่งศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ได้รับมารักษา ณ โรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ ซึ่งในปัจจุบัน “น้องเต่าสีชัง” ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ พร้อมปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ

ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ เป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ทางด้านชีววิทยา เกี่ยวกับวงจรชีวิตของเต่าทะเล ประกอบด้วย 4 ส่วนใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ อาคารจัดแสดงพันธุ์เต่าทะเลและสัตว์น้ำ อาคารบรรยาย บ้านเต่าทะเลเฉลิมพระเกียรติ และบ่ออนุบาลเต่าทะเล ซึ่งจะมีเต่าทะเลในช่วงอายุที่แตกต่างกันไป ซึ่งการดำเนินงานของกองทัพเรือ โดยหน่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลจะจัดเจ้าหน้าที่ เฝ้าตรวจประจำตามหาดต่าง ๆ บนเกาะคราม เกาะอีร้า และเกาะจาน รวม 16 หาดด้วยกัน เพื่อเฝ้าตรวจการลักลอบเก็บไข่เต่าทะเล การทำลายแหล่งขยายพันธุ์เต่าทะเล รวมทั้งการเก็บรวบรวมไข่เต่าทะเลจากหาดต่าง ๆ นำไปเพาะฟักในพื้นที่ที่เตรียมไว้ จนกระทั่งเกิดเป็นลูกเต่า หลังจากนั้นจึงดำเนินการ ในขั้นตอนของการอนุบาลลูกเต่าก่อนกลับคืน สู่ธรรมชาติต่อไป นอกจากนั้นยังมีโรงพยาบาลเต่า เพื่อให้การรักษาพยาบาลเต่าทะเลที่ป่วยหรือรับบาดเจ็บ โดยมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยสำหรับอำนวยความสะดวกให้กับสัตวแพทย์ และนับเป็นโรงพยาบาลเต่าทะเลแห่งแรกในเอเชีย โดยกองทัพเรือได้กำหนดชื่อโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า “โรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ”
สำหรับการรักษา “น้องเต่าสีชัง” ในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงการร่วมมือกันระหว่าง กองทัพเรือ และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการรักษา “เต่าตนุ” ให้คงอยู่คู่ท้องทะเลไทยตลอดไป



มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 86 ครั้ง